xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพดีแสนลำบาก!! วิ่งก็อยาก ฝุ่นก็กลัว เอาไงดี??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิ่งออกกำลังกายยังคงเป็นกระแสฮิตของคนรักสุขภาพ แต่ช่วงนี้อาจจะลำบากไปบ้าง เพราะก็อยากวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงในหลายพื้นที่กลัว เลยไม่รู้จะเอาอย่างไร จะออกกำลังกายดีหรือไม่ดี ละล้าละลังไปหมด

บางคนเลือกไม่ออกกำลังกายเลย บางคนเชื่อว่าสวนสาธารณะสิดี เพราะมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ช่วยดูดมลพิษและดักจับฝุ่นละอองได้แน่ๆ ไปวิ่งได้ปลอดภัย สูดลมหายใจได้เยอะๆ

จากการพูดคุยของทีมข่าวคุณภาพชีวิต MGROnline ได้ข้อมูลทั้งจากทางแพทยสภาและกรมอนามัยที่ตรงกันว่า ช่วงที่ค่าฝุ่นละอองสูงขนาดนี้ งดการวิ่งออกกำลังกายไปก่อนก็ดี และการวิ่งในสวนสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูงก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด

แล้วถ้าอยากออกกำลังกายในช่วงที่มีฝุ่นสูงควรทำอย่างไร?

1.ตรวจสอบค่าอากาศและฝุ่นละออง PM2.5

ก่อนที่จะไปออกกำลังกายหรือไปวิ่งกลางแจ้ง ควรตรวจสอบสภาพอากาศและค่าฝุ่นละอองของพื้นที่ที่เราจะไปออกกำลังกายก่อนว่า อยู่ในพื้นที่สีอะไร ค่าคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นเป็นอย่างไร หากพื้นที่เป็นสีฟ้าหรือเขียว ก็หายห่วงสามารถไปออกกำลังกายได้อย่างสบายใจ ส่วนพื้นที่สีเหลือง คนทั่วไปก็ยังสามารถไปออกกำลังกายหรือวิ่งได้ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควร ส่วนคนเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว ไม่ควรไปออกกำลังกาย

2.พื้นที่สีส้มหรือสีแดงอย่าวิ่ง

หากพื้นที่ที่จะไปออกกำลังกายหรือวิ่ง เกิดอยู่ในระดับเป็นสีส้ม (ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 101-200 และค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และสีแดง (ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 201 ขึ้นไป และค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 91ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป) แนะนำว่าไม่ควรออกไปวิ่งหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเลย อาจรอให้ค่าฝุ่นลดลงก่อน หรือออกกำลังกายในร่มแทน

3.สวนสาธารณะในพื้นที่สีส้ม-สีแดงก็ไม่ควรวิ่ง

สวนสาธารณะ แม้จะมีต้นไม้จำนวนมาก แต่มลพิษในพื้นที่มีมากกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรไปออกำลังกายในสวนสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

4.ไม่สวมหน้ากากขณะวิ่ง

การวิ่งจะยิ่งทำให้ร่างกายสูดเอาอากาศเข้าไปมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกายในพื้นที่ค่าฝุ่นสูง จะยิ่งทำให้สูดอากาศเข้าไปมาก จึงเสี่ยงรับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปจำนวนมาก เช่นเดียวกัน การสวมหน้ากากระหว่างการออกกำลังกาย ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะเมื่อต้องการอากาศเข้าไปจำนวนมาก การสวมหน้ากากไว้จะปิดกันอากาศทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น จึงยิ่งเสี่ยงอันตรายกว่าเดิม

5.เปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกาย

หากสถานที่ออกกำลังกายหรือวิ่งประจำอยู่ในพื้นที่สีส้มและสีแดง อาจเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกายเป็นภายในอาคาร ซึ่งปัจจุบันมียิมจำนวนมากที่ให้บริการรองรับ โดยอาจต้องเลือกยิมที่เป็นอาคารปิด มีระบบเครื่องปรับอากาศ เพราะหากเป็นยิมที่เปิดโล่ง ก็มีโอกาสรับผลกระทบจากฝุ่นอยู่ดี หรือเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกายที่ค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับปกติ

6.ออกกำลังกายอย่างอื่นแทนการวิ่ง

หลายคนอาจเสพติดการวิ่ง หากวิ่งกลางแจ้งไม่ได้ อาจลองหันมาวิ่งลู่ภายในอาคารแก้ขัดไปพลางๆ ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นยังสูง แต่หากไม่ชอบวิ่งบนลู่ อาจลองหันมาทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้เกิดการเบิร์นหรือเผาผลาญเช่นกัน เช่น หันมาเล่นแบดมินตันแทน หรืออาจหันมาลองฝึกโยคะ เป็นต้น

นอกจากประชาชนที่ต้องรับมือแล้ว เจ้าของพื้นที่อย่างสวนสาธารณะ ก็ต้องเท่าทันสถานการณ์ด้วย อาจมีการขึ้นจอขนาดยักษ์รายงานสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 หรือคุณภาพอากาศของพื้นที่นั้นในช่วงเวลานั้น ว่า มีค่าสูงหรือต่ำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนทราบ และหากค่าฝุ่นสูงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจต้องประกาศแจ้งเตือนหรืออาจประกาศงดการใช้พื้นที่

การปรับเปลี่ยนตารางชีวิตหรือการออกกำลังกายบ้าง อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะค่าฝุ่นละอองจะสูงเพียงช่วง ม.ค. - ก.พ. หลังจากนี้หากสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นไม่สูงก็สามารถกลับมาออกกำลังกายหรือกลับมาวิ่งอย่างที่ชอบได้ตามที่ต้องการแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น