xs
xsm
sm
md
lg

อภ.เผยปี 62 ลุยปลูกกัญชา ได้สารสกัดใน พ.ค.นี้ ชู “ขมิ้นชัน” โปรดักต์แชมเปียน ดันสู่ตลาดโลก จ่อทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่กลางปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อภ. เผย ปี 61 ผลประกอบการสูงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดงบ 7,500 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 62 ลุยพัฒนาสารสกัดกัญชาให้ได้ใน พ.ค. นี้ ดัน “ขมิ้นชัน” โปรดักต์แชมเปียนต่อยอดสู่สากล เตรียมข้อมูลส่งต่างประเทศเพื่อขึ้นทะเบียนแล้ว คาด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทดสอบในอาสาสมัครได้ พ.ค. พร้อมเดินหน้าการเข้าถึงยาอีก 3 ชนิด

วันนี้ (22 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าว “ผลการดำเนินงาน ปี 2561 ความคืบหน้าโครงการสำคัญ ทิศทางในอนาคตองค์การเภสัชกรรม” ว่า ผลการดำเนินงานปี 2561 อภ. มีผลประกอบการ 16,651 ล้านบาท สามารถช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้มากกว่า 7,500 ล้านบาท ความสำเร็จของการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา คือ 1. โรงงานผลิตยารังสิต 1 จ.ปทุมธานี ได้รับรางวัล FOYA Award จากสมาคม ISPE ที่มีสมาชิกกว่า 18,000 ราย ใน 90 ประเทศ โดยมีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 2. การผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี เอฟฟาไวเรนซ์ ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับโลกอย่าง WHO PQ และ 3. กระจายผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ใหม่ 2 รายการ คือ ยาเม็ดอะบาคาเวียร์ 300 มิลลิกรัม ใช้แก้ปัญหาการดื้อยา ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยาจำเป็นพื้นฐาน และยาเม็ดริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2562 ตั้งเป้าเรื่องผลประกอบการไว้ที่ 16,720 ล้านบาท ส่วนผลงานที่จะเร่งดำเนินการในปีนี้ คือ 1. กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งการปลูกในระยะเร่งด่วนจำนวน 100 ตารางเมตร ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบ คาดว่า จะสามารถปลูกได้ในช่วงกลางเดือน ก.พ. 2562 และสามารถทำสารสกัดออกมาได้ภายใน พ.ค. 2562 ในการทดลองวิจัยในผู้ป่วย ส่วนระยะกึ่งอุตสาหกรรม ที่จะใช้พื้นที่ปลูก 1,000 ตารางเมตร งบประมาณ 120 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการด้านทีโออาร์ คาดว่าจะสามารถปลูกได้ในต้นปี 2563 2. การพัฒนาสมุนไพร จะดำเนินการให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา การผลิตสารสกัด และรูปแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่สากลมากขึ้น โดยเฉพาะ “ขมิ้นชัน” ที่ตั้งเป้าจะนำร่องตลาดสากลก่อน ตามด้วยสมุนไพรอื่น คือ เถาวัลย์เปรียง ไพล และขิง

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า 3. โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะได้วัคซีนใช้ทำการทดสอบอาสาสมัครใน พ.ค. 2562 และใช้เวลาติดตามผล 1 ปี เพื่อนำข้อมูลไปยื่นขอทะเบียนวัคซีนต่อไป 4. โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 จะผลิตยาน้ำ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ ยาน้ำใช้ทาภายนอก ยาฉีด และยาเม็ด งบประมาณ 5,607 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเลือกบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง คาดว่า จะได้ผู้รับเหมาเร็วๆ นี้ โดยจะสามารถลดการผลิตในส่วนของโรงงานพระราม 6 ได้กว่า 80% และ 5. เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น ได้แก่ ยาละลายลิ่มเลือดโคลพิโดเกล ซึ่ง อภ.สามารถผลิตได้โดยไม่ต้องนำเข้าแล้ว ยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดเม็ดสูตรผสม 3 ชนิด เอฟฟาไวเรนซ์/เอมทริซิตาบีน/ทีโนโฟเวียร์ ขนาด 600/200/300 มิลลิกรัม ยาเม็ดดารุนาเวียร์ 3 ขนาด คือ 150 400 และ 600 มิลลิกรัม สำหรับผู้ป่วยดื้อยา รวมถึงการแสวงหาพันธมิตร โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาผ่านร้ายเพรียวในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีกว่า 140 สาขาทั่วประเทศ

เมื่อถามถึงจำนวนการปลูกและการผลิตของกัญชาทางการแพทย์ นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า การปลูกในระยะเร่งด่วน จะนำเข้าสายพันธุ์กัญชาจากแคนาดา โดยตลอดปีจะปลูกได้ 4 รอบ คาดว่า จะได้กัญชาแห้งปริมาณ 100 กิโลกรัมต่อปี นำมาผลิตเป็นน้ำมันกัญชา ขนาด 5 มิลลิลิตร ได้จำนวน 1-2 หมื่นขวด โดยจะได้น้ำมันกัญชาล็อตแรกใน พ.ค. 2562 ขณะที่ระยะกึ่งอุตสาหกรรม คาดว่า จะได้กัญชาแห้งประมาณ 800 กิโลกรัมต่อปี โดยจะพัฒนาสายพันธุ์เองด้วย สำหรับประเด็นเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชา ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ อภ. จะดำเนินการอย่างรอบคอบ และพยายามทำอยู่ภายใต้กรอบกติกามากที่สุด

เมื่อถามถึงโรงงานวัคซีนที่จะปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานชีววัตถุ นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า เราเริ่มต้นจากการทำโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่จาก พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ที่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้านวัคซีน ก็จำเป็นที่จะต้องรองรับการผลิตวัคซีนและชีววัตถุอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งระบบสาธารณูปโภคเรามีอยู่แล้ว การจะสร้างไลน์ผลิตเพิ่มเติมก็อาจต้องรายงานไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งจะทำให้ อภ.สามารถรับผลิตวัคซีนได้ โดยเฉพาะส่วนของการผสมและการบรรจุ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการทำโรงงานผลิตยามะเรงร่วมกับ ปตท. นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า โครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อ โดยอยุ่ระหว่างการว่าจ้างบริษัทเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งคาดว่าผลน่าจะออกมาในช่วง พ.ค. 2562 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบ

เมื่อถามว่า การช่วยประหยัดงบ 7,500 ล้านบาทถือเป็นกำไรหรือไม่ นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เมือ่เทียบกับยาต้นแบบแล้ว การที่ อภ. ผลิตยาจะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณด้านยาไปได้ 7,500 ล้านบาท ส่วนกำไรนั้น ปี 2561 มีกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาท คิดเป็น 9% ของยอด ซึ่งบางส่วนได้นำส่งคืนคลัง และสาเหตุที่ อภ.ต้องดำเนินการยาระดับสูงหรือเวชสำอางต่างๆ ก็เพื่อให้มีกำไรมาช่วยในเรื่องของการผลิตยากำพร้า โรงงานวัคซีนที่จำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่มีกำไรเลย

นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการ ผอ.อภ. กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะเน้นการทำ Contact Farming อย่างการปลูกขมิ้นชันซึ่งปลูกได้ปีละครั้ง เพราะใช้เวลาในการปลูก 7 เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ขณะนี้ก็มีการแจกสายพันธุ์ทีเหมาะสมกับการนำมาทำสารสกัดให้แก่เกษตรกรแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการผลิต ซึ่งเราจะพัฒนาให้เป็นโปรดักต์แชมเปียน ที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วจะต้องซื้อกลับไป และจะนำไปสู่ตลาดโลก โดยได้มีการติดต่อกับบริษัทต่างชาติแล้วเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนสารสกัดขมิ้นชัน “แอนตีออกซ์” แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะขึ้นทะเบียนในไทยได้เป็นตำรับแรกก็ใช้เวลากว่า 20 ปี ซึ่งขณะนี้ก็กำลังทำข้อมูลเรื่องของคลินิก วัตถุดิบ และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ส่งไปเพิ่มเติมตามที่ร้องขอ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ ส่วนสมุนไพรอีก 3 ตัว ก็จะเดินตามรอขมิ้นชัน โดยสารสกัดเถาวัลย์เปรียงจะชูเรื่องของการแก้ปวดข้อ ซึ่งขณะนี้ศึกษาทเลองในมนุษย์ระยะที่ 3 แล้ว หากประสบความสำเร็จก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียน


กำลังโหลดความคิดเห็น