สจล.เปิดตัวรายวิชาใหม่สนุกกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ Fun with AI เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ให้นักศึกษาเรียนรู้ การดีไซน์ระบบเอไอ พัฒนาแอปพลิชันเชิงเอไอได้เอง เรียนผ่านระบบออนไลน์เริ่มสอนปีการศึกษา 2562 นี้และเปิดเป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาทุกคนสนใจ
วันนี้ (21 ม.ค.) ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สจล. เปิดตัวรายวิชา “สนุกกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ Fun with AI” ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการเปิดวิชาที่รองรับการเรียนรู้ของโลกอนาคต เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ และทดลองอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่คิดอ่านเสมือนมนุษย์ ไปจนถึงการคิดค้นและพัฒนาแพลตฟอร์มของเอไอ (AI) ตอบรับกระแสคนรุ่นใหม่ให้พร้อมกับการใช้ชีวิต และมีทักษะการใช้งานเทคโนโลยีเสมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของรูปแบบการใช้ชีวิตและทำงานในโลกอนาคต อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ
“นักศึกษาจะมีโอกาสพัฒนาแอปพลิเคชันเชิงเอไอด้วยตนเอง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริงได้ในอนาคต สจล. เชื่อว่าการเปิดสอนวิชาสนุกกับปัญญาประดิษฐ์นี้ จะเป็นโอกาสสำคัญให้นักศึกษาทุกคณะ ได้สัมผัสกับนวัตกรรมปัญญาอัจฉริยะที่ในโลกปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญ และสอดรับกับการขับเคลื่อนสร้างสรรค์นวัตกรรมโลกอนาคต ตอบสนองแผนของประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ด้าน ดร.อำภาพรรณ ตันตินาครกูล ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป สจล. กล่าวว่า วิชา “สนุกกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ Fun with AI” จะเริ่มเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 นี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 โดยเปิดสอนผ่านระบบออนไลน์ และเปิดสอนเป็น “รายวิชาเลือก” สำหรับนักศึกษาทุกคณะที่สนใจ สามารถเรียนลงทะเบียนเรียนได้ ทั้งนี้ นักศึกษาจะเรียนรู้วิธีการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ อาทิ การดีไซน์ระบบปัญญาประดิษฐ์ การรับมือและแก้ปัญหา การเชื่อมโยงเครือข่ายและการเรียนรู้ระดับลึก และผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ ต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีความเข้าใจการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับศาสตร์แขนงต่างๆ อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียในธุรกิจออนไลน์ การควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ ฯลฯ โดยนักศึกษาจะได้ลงมือสร้างแอปพลิเคชันเชิงเอไอ (AI) ทั้งนี้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence : AI เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกปัจจุบัน จากการวิจัยและพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้มีความสามารถในการเรียนรู้แบบสมองมนุษย์ที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การคิดเชิงตรรกะ หรือการกระทำเสมือนมนุษย์