xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.จุฑารัตน์ฯ โต้ สช.แจ้งความปลอมวุฒิการศึกษา แจงเป็นโครงการเทียบโอนหน่วยกิต มีสิทธิทำได้ตาม กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ที่ปรึกษา ผอ.ร.ร.จุฑารัตน์วิทยา โต้ สช. ไม่มีการปลอมวุฒิ แจงเป็นโครงการให้ นร. ลาออกกลางคัน ถูกไล่ออก ติด 0 ร มส. จากโรงเรียนเดิมเทียบโอนหน่วยกิตมาเรียน รวมถึงเทียบโอนคนมีประสบการณ์ฝึกอาชีพ ยันสามารถทำได้ เหตุได้รับอนุญาตใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผย ชี้แจงไป สช. และ ศธจ.ปทุมธานี แล้ว แต่ไม่ได้รับฟัง ทั้งที่กฤษฎีกาเคยตีความแล้วทำได้ ไล่กลับไปศึกษาข้อกฎหมายใหม่ ระบุ ศาลรับเรื่องร้องเรียนแล้ว

จากกรณี นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี (ศธจ.ปทุมธานี) ตรวจสอบพบว่า มีโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปทุมธานี จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามกฎหมาย เรียน 2-3 เดือนก็จบการศึกษา และอาจจะเข้าข่ายการปลอมแปลงหรือซื้อขายวุฒิการศึกษา

วันนี้ (19 ม.ค.) นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ (ด้านกฎหมาย) โรงเรียนจุฑารัตน์วิทยา อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ขอยอมรับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ ร.ร.จุฑารัตน์วิทยา แต่ สช. และ ศธจ.ปทุมธานี อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากอาจจะไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายให้ดีก่อน ซึ่งข้อเท็จจริง ร.ร.จุฑารัตน์วิทยา เป็น ร.ร.เอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งประเภทสามัญศึกษาและอนุญาตให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร.ร. จึงได้จัดทำโครงการ “จุฑารัตน์วิทยา พาขึ้นฝั่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักเรียนที่ลาออกกลางคัน ถูกไล่ออก หรือเรียนไม่จบการศึกษา เนื่องจากมีผลการเรียนติด 0, ร, มส., มผ. จากสถานศึกษาแห่งเดิม ย้ายมาเรียนโดยการเทียบโอนหน่วยกิตและมาสอบ เพื่อประเมินผลการเรียน ตามแนวทางมาตรา 26 แห่งกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้สถานศึกษาสามารถกำหนดเครื่องมือการวัดผลประเมินผลได้ยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียน

นายเมธชนนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นักเรียนรายใดที่มีประสบการณ์ทำงาน ฝึกอาชีพ ประกอบอาชีพในสถานประกอบการ ก็ยังสามารถเอาประสบการณ์ตรงนั้น มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบได้ ตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกคู่มือแนวทางการเทียบโอนไว้ รวมถึงยังสอดคล้องกับมาตรา 15 แห่งกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ได้อีกด้วย

นายเมธชนนท์ กล่าวว่า สำหรับการที่โรงเรียนจัดทำบัญชีรายชื่อทะเบียนนักเรียนแยกออกไว้ 2 เล่ม นั้น เป็นกรณีที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ว่า นักเรียนกลุ่มใดขอรับเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี จากรัฐบาล และนักเรียนกลุ่มใดไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ชี้แจงแนวทางการจัดการศึกษารูปแบบดังกล่าวตามหลักของกฎหมายให้ สช. และ ศธจ.ปทุมธานี รับทราบแนวทางแล้ว แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ปฏิเสธและยืนยันในคำพูดเดิมว่า โรงเรียนทำผิดกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งไม่ยอมฟังเหตุผลหรือศึกษาข้อกฎหมายที่ตัวเองบังคับใช้บ้างเลย จนเกิดเป็นเหตุการณ์ในลักษณะนี้

​​“โรงเรียนจุฑารัตน์วิทยา ขอยืนยันว่าการดำเนินการจัดการศึกษาดังกล่าวเป็นไปตามหลัก และเงื่อนไขของข้อกฎหมายที่โรงเรียนได้รับอนุญาตเอาไว้เมื่อตอนจัดตั้งโรงเรียน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ ที่เปิดโอกาสให้ทุกสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ และการจัดการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ ร.ร.หนองชุมแสงวิทยา จ.เพชรบุรี ก็เคยขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความ และก็เคยมีความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ว่า สถานศึกษาทุกแห่งสามารถจัดการศึกษาโดยการเปิดเทียบโอนผลการเรียนในลักษณะเช่นนี้ได้ ดังนั้น เมื่อโรงเรียนจุฑารัตน์วิทยาได้รับการอนุญาตให้จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย่อมมีสิทธิที่จะนำแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรมาบังคับใช้เช่นเดียวกัน” นายเมธชนนท์ กล่าว

นายเมธชนนท์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ขอชี้แจงอะไรมาก เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางรับเรื่องที่โรงเรียนฟ้องคดีต่อศาลไว้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2561 หลังจากนี้ขอให้ สช. กลับไปทบทวนตนเองว่า ได้ศึกษาข้อกฎหมายและแนวทางการจัดการศึกษามาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากไม่มีข้อมูลทาง ร.ร. ยินดีจะส่งไปให้อ่าน


กำลังโหลดความคิดเห็น