xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง “เด็กไม่เกิน 20 ปี” พื้นที่ฝุ่น PM2.5 สูง สมรรถภาพปอดลดลง เสี่ยงถุงลมโป่งพอง-มะเร็งปอดในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอทางเดินหายใจศิริราช ห่วง “เด็กไม่เกิน 20 ปี” ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 สูง ส่งผลสมรรถภาพปอดลดลง เสี่ยงเกิดผลกระทบระยะยาว เป็นโรคถุงลมโป่งพองในอนาคตได้ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ พ่วงการเกิดโรคมะเร็งปอด ด้าน รพ.รามาฯ ชี้ ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการเข้ารักษาห้องฉุกเฉิน การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้น

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” ว่า ฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพ 2 ส่วน คือ 1. ผลเฉียบพลัน สามารถเกิดกับทุกคนได้ ขึ้นกับความเข้มข้นของมลพิษ จะมีอาการแสบตา แสบจมูก ระคายคอ มีเสมหะได้ ส่วนคนป่วยโรคเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง จมูกภูมิแพ้ ไซนัส ทำให้มีอาการมากขึ้น 2. ผลระยะยาว มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรามักลืมนึกถึง คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งหมายรวมไปถึงคนอายุ 20 ปี เนื่องจากคนเราเกิดมามีถุงลมจำนวน 25 ล้านใบ พออายุ 10 ขวบ จะพัฒนาเพิ่มเป็น 8 เท่า หรือ 300 ล้านใบ และปอดจะขยายตัวเต็มที่ที่อายุ 20 ปี จนเต็มประสิทธิภาพและค่อยลดลงไปตามอายุ ซึ่งฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองของปอดไม่ต่างจากควันบุหรี่

“ผลที่พบ คือ สมรรถภาพปอดของเด็กที่อยู่ในย่านที่มีฝุ่น PM2.5 จะถดถอยกว่าเด็กในวัยเดียวกันในพื้นที่ที่ไม่มีฝุ่น หรือฝุ่นน้อย ถ้าประชากรเราต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นเช่นนี้หลายๆ ปี สมรรถภาพที่อายุ 20 ปี จะเป็นจุดสูงสุดก็จะไม่ได้ และสมรรถภาพจะลดลงเร็วกว่าเด็กที่ไม่สัมผัสฝุ่น ซึ่งในอายุ 40-50 ปี สมรรถภาพปอดอาจถดถอยเหมือนคนเป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการระคายเคืองของเซลล์ในปอดตลอดเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้เหมือนกับบุหรี่ในเวลา 10-20 ปีข้างหน้า” รศ.นพ.นิพัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การศึกษาในประเทศที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ พบว่า ช่วงที่บรรยากาศมีฝุ่น PM2.5 เยอะ มีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉิน รพ. สูงขึ้น และมีการเสียชีวิตจากโรคทางปอดและหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เป็นผลระยะสั้นพร้อมกับอัตราการเพิ่มของฝุ่นที่มากขึ้น ส่วนในระยะยาวประชาชนอาศัยในพื้นที่ที่มีฝุ่นเป็นเวลานาน การศึกษาพบว่า มีประชาชนในเมืองนั้นมีโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงขึ้น นอกจากนั้น ยังพบว่า มีอาการเกิดโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยฝุ่นพวกนี้ทำให้เกิดอนุมูลอิสระและทำให้เกิดโรคต่อ หรือฝุ่นไปเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดอักเสบในตำแหน่งที่ฝุ่นเข้าไปอยู่จึงเกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญคนเรามักคิดว่าฝุ่นคือผงจากคาร์บอนเล็กๆ ที่ละเอียดจริงๆ มีมากกว่านั้น เชื่อว่า มีสารบางอย่างอยู่ในฝุ่นนั้นด้วย เช่น สารโลหะหนักบางชนิด หรือ สารก่อมะเร็ง โดยประชากรตรงนั้นก็มีอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มด้วย โดยเฉพาะมะเร็งปอด


กำลังโหลดความคิดเห็น