ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ หารือสิทธิบัตรกัญชาล้มเหลวขั้นสุด หลัง รมว.พาณิชย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เข้าร่วม ชี้ ส่อเจตนาไม่จริงใจแก้ปัญหา อ้างกฎหมายต่างประเทศให้จัดสิทธิบัตร ทั้งที่มีอีกหลายประเทศ ที่ไม่อนุญาต ซัดไม่เห็นประโยชน์การหารือ เดินหน้าลุยฟ้องศาลแน่นอน
วันนี้ (17 ม.ค.) มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) มหาวิทยาลัยรังสิต สภาการแพทย์แผนไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์หลังหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่า 1. การหารือในวันนี้เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ภาควิชาการและภาคประชาสังคมช่วยหาทางออกกับปัญหาสิทธิบัตรกัญชาที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเผชิญอยู่ แต่ปรากฏว่า การประชุมวันนี้ ไม่มีฝ่ายนโยบายในระดับรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับกรม เช่น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือรองอธิบดีเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด มีเพียง ผอ.สำนักกฎหมาย และ ผอ.กองสิทธิบัตร เข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่า อธิบดีติดภารกิจต่างจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนาที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา
2. ผลการหารือเพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรกัญชาระหว่างภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชัดเจนว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีเจตนาไม่ต้องการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ขัดมาตรา 9 ที่ว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือขอสิทธิบัตรไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 9(5) ที่ว่าด้วยการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน โดยทางกรมฯ ยกแนวปฏิบัติของประเทศที่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรกัญชา โดยไม่ยกตัวอย่างอีกหลายประเทศที่สาระกฎหมายสิทธิบัตรตาม ม.9(5) ของไทย แต่ปฏิเสธคำขอโดยใช้ประเด็นขัดต่อความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุที่กัญชายังเป็นยาเสพติด เช่น บราซิล และบางประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น อีกทั้งไม่ได้รายงานเงื่อนเวลาว่า ประเทศที่ให้จดสิทธิบัตร เกิดขึ้นหลังการปลดล็อคการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วหรือไม่ แสดงให้เห็นเจตนาในการเลือกใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความชอบธรรมในการไม่ยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ค้างคาอยู่
3. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา แจ้งผู้เข้าร่วมประชุมเพียงว่า จะรับความคิดเห็นของภาควิชาการและภาคประชาสังคมเท่านั้น เจ้าหน้าที่จะไปพิจารณาดำเนินการต่อ โดยไม่ได้รับปากจะดำเนินการใดๆเพื่อการยกเลิกคำขอแต่ประการใด 4. แม้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำหนังสือแจ้งปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรกัญชา 3 คำขอไปยังผู้ขอแล้วดังนี้ คือ 0501005232, 0601002456 และ 0301001207 ตาม มาตรา 27 โดยให้เวลาอุทธรณ์ 90 วัน และอีก 3 คำขอ ผู้ยื่นขอละทิ้งเอง
อย่างไรก็ตาม คำขอสิทธิบัตร เลขที่ 1101003758 ของบริษัท GW Pharma และ Otsuka ซึ่ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ว่า ได้เพิกถอนไปแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง กรมฯยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอน เช่นเดียวกับคำขอของบริษัท GW Pharma และ Otsuka อีก 6 คำขอที่ยังอยู่ในระบบคำขอสิทธิบัตร โดยเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรกัญชาเพื่อรักษาโรคลมบ้าหมู ต่อต้านเนื้องอกรักษาโรคลมชัก ยาต้านโรคจิต รักษามะเร็ง บำบัดประสาท เป็นต้น
การที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยให้คำขอเหล่านี้ยังคาอยู่ในระบบ เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลยังไม่ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติด แม้จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อปลดล็อคการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในการรักษาโรคและยังขัดขวางการทำวิจัยและเสียโอกาสในพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์
ย้ำอีกครั้งว่า 7 คำขอสิทธิบัตรกัญชาที่เป็นปัญหาขณะนี้ ล้วนแต่เป็นคำขอของบริษัท GW Pharma และ Otsuka ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ไปเยือนทั้งในไทยและญี่ปุ่น อีกทั้งคำขอทั้ง 7 ประกาศโฆษณาและยื่นตรวจสอบในรัฐบาล คสช. ทั้งสิ้น
ดังนั้น ตัวแทนภาควิชาการและภาคประชาสังคม เห็นร่วมกันว่า ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป จากความไม่จริงใจจะแก้ปัญหาเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำแถลงก่อนหน้านี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภาคประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์ จึงขอประกาศว่า จะดำเนินการโดยการฟ้องร้องต่อศาล พร้อมกับการหารือกับประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และผู้มีอำนาจ เพื่อเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและการเมืองให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเร็ว