xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ยกทีม “บิ๊ก 5 องค์กรหลัก” ร่ายยาวกว่า 1 ชั่วโมงผลงาน รอบ 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศธ. ผลงาน รอบ 4 ปี มอบผู้บริหารองค์กรหลัก นำเสนอ “ธีระเกียรติ” เผยพอใจภาพรวมการทำงาน ให้เกิน 5 คะแนน และเดินหน้าได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชี้พอใจที่สุดคือการปราบโกง ลั่นสะสาง ปราบปรามได้มากที่สุดยุคหนึ่ง

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดแถลงผลการดำเนินงานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รอบ 4 ปี (ปี 2558-2561) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมการ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยผู้บริหารองค์กรหลัก ของ ศธ.ได้แก่ สำนักงานปลัด ศธ.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นผู้แถลงภาพรวมของแต่ละหน่วยงานโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ภาพรวมของการดำเนินงานของ ศธ.ในทุกองค์กรหลักของ ศธ.4 ปีที่ผ่านมานั้นส่วนตัวพอใจ ที่ผ่านมาตนย้ำมาเสมอว่าปัญหาหลายเรื่องมีมานาน และสะสมการเริ่มต้นมองด้วยแง่ลบและพยายามเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน ไม่สามารถทำได้กับการปฏิรูปการศึกษา แต่ควรขยับทีละนิดเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่ารัฐบาลใดมาดูจะเห็นได้ว่ากำหนดไว้ครอบคลุม ยังลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูประบบราชการ ซึ่งมองให้ดีจะเห็นได้ว่าหน่วยงานทำครบถ้วนและทุกคนก็ตั้งใจทำงาน และถ้าจะให้คะแนนผลการทำงานภาพรวมตนให้เกิน 5 คะแนน แต่บางโครงการให้ 8-9 คะแนน เช่น โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ หรือ คูปองครู ,การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ หรือ อีทูอี เป็นต้น

“อีกเรื่องที่พอใจมากคือ ธรรมาภิบาล ซึ่งผมมองว่ายุคนี้สังคมช่วยเราได้เยอะ เป็นยุคที่การโกงได้รับการสะสาง และป้องปรามมากที่สุดยุคหนึ่ง ทุกอย่างตรงไปตรงมาผมก็พอใจ ซึ่งไม่ใช่ผลงานชิ้นโบแดงแต่อะไรก็ตามที่สะท้อนมาในสื่อมากแสดงว่าอยู่ในจิตใจประชาชน กดดัน แต่เรื่องอื่นๆคนอาจจะไม่รู้สึกโดนเท่าเรื่องโกง เพราะไม่อึดอัดใจมากเพราะเดี๋ยวก็พัฒนาไป แต่เรื่องโกงคนรู้สึกว่าสั่งสมมานานถึงเวลาต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่เกี่ยวกับครูที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการไว้ คือ การดูแลความเป็นอยู่ของครู การซ่อมแซมบ้านพักครู การแก้ปัญหาหนี้สินครู การเปลี่ยนวิธีการเลื่อนวิทยฐานะ เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาตนเองผ่านคูปองครู เป็นต้น ตรงนี้ผมยังไม่ค่อยเห็นว่ามีพรรคการเมืองใดกำหนดเป็นนโยบาย แต่ก็คาดว่าจะทยอยประกาศออกมาหลังจากนี้ ซึ่งก็อยากให้ใครก็ตามที่เข้ามาสานต่อและทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า การทำงานระยะเวลา 4 ปี ในส่วนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้เรียนนอกระบบการศึกษาประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้ ได้สำรวจข้อมูลพบประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาและต้องดึงกลับเข้าสู่ระบบกว่า 4.7 แสนคน ซึ่งกศน.สามารถดึงกลับเข้าสู่การศึกษาได้ 4.9 หมื่นคน นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อบรมให้ความรู้ทักษะดิจิทัล ตั้งแต่การใช้มือถือ การใช้แอปพลิเคชั่น การขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 มีประชาชนเข้ารับอบรมกว่า 1.13 แสนคนที่สามารถขายออนไลน์ได้จริง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เน้นสร้างศึกษาที่เข้มแข็ง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติและขยายความร่วมมือกับต่างประเทศชัดเจน เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางการศึกษาในระดับภูมิภาค (Education Hub) โดยปัจจุบันมีโรงเรียนนานชาติทั้งสิ้น 205 โรง นักเรียน 53,295 คน รวมถึงจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการเพื่อขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ปัจจุบันมีโรงเรียนเฉพาะความพิการ 20 โรง นักเรียน 1,500 คน และโรงเรียนเรียนรวม 748 โรง นักเรียน 4,397 คน

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ในภาพรวมระบบการศึกษาของไทยมีผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมประมาณ 13 ล้านคนเศษ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานที่ออกนโยบายและสร้างมาตรฐานการทำงานทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการประเมินของโรงเรียน ลดการกรอกเอกสาร มีการผลักดันมีพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ..ที่จะมีส่วนสำคัญในการกำกับมาตรฐานการศึกษา ประกันคุณภาพให้กับผู้เรียนและผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่เข้ามาวางแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยสนับสนุนดูแลส่งเสริมให้ผู้ที่ด้อยโอกาสได้รับโอกาสในการศึกษา อย่างไรก็ตาม อาจจะตั้ง “ธนาคารหน่วยกิต” เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกวัยที่ต้องการพัฒนาตนเอง อยากเข้าสู่ระบบการศึกษาเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ เพราะต่อไปนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในสถานศึกษาตลอดเวลาแต่สามารถเรียนได้ทุกที่

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในช่วง 4 ปี สพฐ.มั่นใจว่าการดำเนินงานก้าวหน้าหลายเรื่องและยังได้เตรียมการรองรับในอนาคต ทั้งการส่งเสริมความรู้การคิดวิเคราะห์ การเท่าทันเทคโนโลยีทั้งภัยจากไซเบอร์ การป้องกันปัญหายาเสพติด ที่สำคัญการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลได้ลงทุนในการจัดปัจจัยพื้นฐาน มีการสนับสนุนงบประมาณ ดูแลเด็กด้อยโอกาสทั้งในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่เกาะ มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน คือ สอนพื้นฐานการเขียนโค้ด (Codging) ส่งเสริมการเรียนสะเต็มศึกษา และล่าสุดได้เปิดห้องเรียนนวัตกรขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี เรียนหลักสูตรโคเซน เป็นต้น นอกจากนี้ สพฐ. ยังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมเรื่องภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และยังจัดทำโครงการบริหารจัดการสถานศึกษารูปแบบใหม่ที่ร่วมกับภาคเอกชน เช่น โรงเรียนสานพลังประชารัฐ โรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ ที่จะนำโครงการที่นำร่องประสบความสำเร็จขยายผลไปสู่ตำบลเพื่อให้เป็นที่พึ่งทางการศึกษาแก่ประชาชน

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.เป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์4.0 มีศูนย์ฝึกทักษะอาชีวะทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการเรียนสายสามัญ ลดปัญหาการทะเลาะวิวาท โดยเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เเละปลูกฝังเรื่องคุณธรรมทำให้ปัจจุบันก็ไม่มีเหตุเกิดขึ้นเลย มีการขับเคลื่อนแเละพัฒนากำลังคนในการจัดตั้ง EEC มีการยกระดับมาตรฐานอาชีวะสู่สากล ขณะที่ภาพรวมคนเรียนอาชีวะ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 มีผู้เรียนร้อยละ 38 ปัจจุบันร้อยละ 40 เเละตั้งเป้าปีการศึกษา 2562 มีผู้เรียนร้อยละ 45 ที่สำคัญช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ น.ส.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สกอ.ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ล่าสุด ปฏิรูปการศึกษาทุกด้าน ทำงานร่วมกับภาคผู้ประกอบการ ทำงานควบคู่กับเรียน คาดตัวเลขปี 2563 มีผู้จบการศึกษาจากโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 6,000 คน พัฒนาทักษะ ของผู้ที่ทำงานแต่ต้องการทักษะอื่นเพิ่มเติมได้ 17,000 คน/โครงการไซเบอร์ยูนิเวอร์ซิตี้ มีผู้เรียน 65,000 คน สะสมหน่วยกิตและเรียนวุฒิปริญญาได้ นำสถาบันอุดมศึกษาต่างชาติเข้ามาในไทย มีวิทยาลัยพี่เลี้ยง ดูแลโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 2,000 แห่ง จัดสรรทุนให้เด็กได้รับทุนการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วหลายพันคน เเละเดินหน้าสนับสนุนงานวิจัย โดย สกอ.ร่วมมหาวิทยาลัย 158 แห่ง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศชาติให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น