xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ ป้อง สนช.ดัน กม.กัญชารักษาโรค เอื้อประโยชน์ต่างชาติ ห่วงสิทธิบัตร-ร่วมพัฒนาพันธุ์พืชมากกว่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอจุฬาฯ แจง สนช.ดัน กม.ใช้กัญชารักษาโรค ไม่ได้เอื้อประโยชน์บริษัท หรือต่างชาติ เหตุมีบทเฉพาะกาลให้ทำร่วมกับรัฐ 5 ปี ห่วงไม่ยกเลิกสิทธิบัตร เข้าร่วมอนุสัญญากับญี่ปุ่นพัฒนาพันธุ์พืช ทำไทยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไม่ได้ ภาคประชาสังคมเตรียมหารือกรมทรัพย์สินฯ 17 ม.ค.นี้ เชื่อยกเลิก 13 คำขอไม่ได้ใน 7 วันแน่

วันนี้ (16 ม.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีกระแสการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การใช้กัญชาทางการแพทย์ อาจมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ร่างถูกผลักดันอย่างรวดเร็ว ว่า ตนอยู่ในกรรมาธิการของ สนช. เมื่อทราบถึงกระแสข่าวที่บอกว่าเอื้อประโยชน์บริษัทหรือต่างชาติ รู้สึกผิดหวังมากๆ เนื่องจากหากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในบทเฉพาะกาลระบุว่า หากเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่จะมีการพัฒนากัญชาทางการแพทย์จะต้องทำร่วมกับภาครัฐเป็นเวลา 5 ปี แบบนี้ถือว่าป้องกันเอกชนเอาผลประโยชน์แล้ว แต่หากจะมีการตำหนิหรือไม่ชอบ ส่วนตัวมองว่า ควรจะเป็น 10-20 ปีมากกว่า เพราะ 5 ปี มองว่าน้อยไป

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้เพื่อสันทนาการ แต่นำมาใช้ทางการแพทย์ เพื่อผู้ป่วย แต่ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ หรือร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ อันไหนจะผ่านก่อนหรือหลัง หากมีปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ยอมทำอะไร ทั้งที่ตอนนี้มีโอกาสทำได้ มีเหตุผลที่จะไปแจ้งการยกเลิก แต่หากไม่ทำ สุดท้ายกฎหมายออกมาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไปเอื้อต่างชาติแน่นอน เนื่องจากสิทธิบัตรที่ต่างชาติยื่นขอนั้นไปครอบคลุมพืชกัญชา สารจากกัญชา แบบนี้นักวิจัยไทย ที่พัฒนาผลิตก็ทำไม่ได้หมด

"เรื่องกฎหมายไม่ได้เอื้อต่างชาติ แต่น่ากังวลเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ต่างชาติมายื่นขอมากกว่า ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้เคยหารือร่วมกับญี่ปุ่นว่า จะมีความร่วมมือทำสนธิสัญญาการพัฒนาสายพันธุ์ หากลงนามจริงไทยจะไม่สามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชาได้ เป็นกระบวนการโจรสลัดชีวภาพ ไทยจะเสียผลประโยชน์มหาศาล จดสิทธิบัตรกัญชาไม่ได้ เพราะต่างชาติยื่นขอจดสารธรรมชาติในกัญชา ถ้ากรมทรัพย์สินฯ ยืดเยื้อไม่ยกเลิก ไทยก็หมดหนทาง หากมีสนธิสัญญาเรื่องพันธุ์พืชอีก ไทยคงไม่ต้องทำอะไรแล้ว ที่สำคัญองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะหันมาพัฒนาสายพันธุ์กัญชา หากมีข้อตกลงนี้คงทำไม่ได้ ทั้งหมดชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ที่เคยแถลงผลงานประสบความสำเร็จต่างๆ ก็คงมีเรื่องดี แต่ที่เห็นแน่ๆ เรื่องสารเคมี สารพิษ กัญชา ปกป้องประชาชนชาวไทย ผลประโยชน์ประเทศชาติแทบไม่เห็น ถ้าให้คะแนนรัฐบาล ผมให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะให้ยังไงเหมือนกัน ประชาชนคงต้องใช้วิจารณญาณแล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า การทำสนธิสัญญาพันธุ์พืช คนไทยต้องจับตาดีๆ เพราะไม่ใช่แค่กัญชา แต่รวมพันธุ์พืชทั้งหมด แน่นอนว่ากัญชารับผลกระทบเต็มๆ ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยเคยแสดงเจตจำนงว่า จะเข้าร่วมกับญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งหากเข้าร่วมจะทำให้ผูกติดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) โดยหากเข้าร่วมการพัฒนาสายพันธุ์พืชไทย รวมทั้งกัญชาจะแคบลง โดยเฉพาะกัญชา เนื่องจากปัจจุบันกัญชาไทยจะมีอยู่ประมาณ 10-20 สายพันธุ์ ที่ยังไม่ถูกต่างชาตินำไปพัฒนาและขึ้นสิทธิบัตรเป็นของประเทศตนไปแล้ว เพียงแต่ของเรายังไม่ร่วมสนธิสัญญานี้ ทำให้ยังมีช่องในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อยู่ แต่หากเข้าร่วมของเราที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว และจะนำมาพัฒนาสายพันธุ์ก็เกรงว่า จะพัฒนาไม่ทันต่างชาติ ซึ่งสุดท้ายไทยก็เสียผลประโยชน์อยู่ดี

“ผมมองว่าตอนนี้รัฐบาลไทยทำอะไรแปลกๆ ทั้งเรื่องสิทธิบัตรกัญชา และเรื่องสนธิสัญญานี้ก็ยังไม่ชัดเจน แม้ล่าสุดญี่ปุ่นจะเคยมาทวงให้เราร่วมสนธิสัญญา แต่รัฐบาลบอกว่าใกล้เลือกตั้ง ให้รอรัฐบาลหน้า ปัญหาคือ เราจะมั่นใจหรือไม่ เพราะตอนเป็นรัฐบาลชุดนี้ยังเคยไปแสดงเจตจำนงจะเข้าร่วม และถ้ากลับมาอีกในรัฐบาลหน้า จะสานต่อหรือไม่ จริงๆเรื่องนี้อยากให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาประกาศให้ชัดว่าจะเดินอย่างไร ไม่ใช่โยนไปรัฐบาลหน้า เพราะดูเหมือนว่า ทั้งปัญหาสิทธิบัตรกัญชา และข้อตกลงการคุ้มครองพันธุ์พืช ก็จะเป็นในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงไม่รู้ว่ากระทรวงฯนี้จะทำอย่างไรต่อกันแน่” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในวันที่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 10.00 น. ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมจะเข้าหารือร่วมกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวกับคำขอสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากคราวก่อนหารือร่วมกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีนโยบายให้ภาคประชาสังคมหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหาทางออกโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การหารือในครั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกต ว่า 1.จากเดิมมีการหารือในระดับรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ลดระดับลงเหลือเพียงระดับกรม ทำให้สงสัยว่า มีความพยายามหาข้อยุติจริงหรือถ่วงเวลาออกไปอีก และการพูดคุยในครั้งนี้จะหาข้อยุติได้เร็วที่สุดตามแนวคิดของ รมว.พาณิชย์ จริงหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ยกเลิกคำขอแล้ว 6 คำขอ จากทั้งหมด 13 คำขอ นายปานเทพ กล่าวว่า การหารือในวันที่ 17 ม.ค. 2562 จะเป็นครบกำหนด 7 วันที่ทางเครือข่ายขีดเส้นว่า จะต้องยกเลิกคำขอทั้งหมด 13 คำขอ แต่เชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้แน่ อย่างไรก็ตาม คงต้องขอดูก่อนว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะให้เหตุผลอย่างไร จำเป็นมากน้อยเพียงใด ซึ่งเราเห็นว่าทางอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกเลิกได้เลย และจะต้องมาทบทวนอีก 20 คำขอด้วยที่บอกว่าเป้นสารสังเคราะห์นั้นจรองหรือไม่อย่างไร คงต้องรอดูการหารือวันที่ 17 ม.ค.อีกครั้งก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น