หมอจุฬาฯ ชี้ จามเป็นเลือดจากฝุ่น PM2.5 มีโอกาสเกิดได้ หากระคายเคืองจนจามอย่างรุนแรง จนเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก โดยไม่เกี่ยวข้องโรคร้ายแรง แนะสังเกตอาการหากเลือดไม่หยุดไหล มีไข้ เจ็บคออย่างหนัก อาจพบแพทย์ หาสาเหตุอื่นร่วม
วันนี้ (16 ม.ค.) นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีหนุ่มออกมาโพสต์เตือนผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จนมีอาการแสบจมูก แสบคอ ถึงขั้นจามเป็นเลือดจำนวนมาก ว่า การจามเป็นเลือดมีหลายสาเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นฉับพลันเพียงครั้งเดียว ก็อาจเป็นปัญหาที่เราเจอบ่อยๆ คือ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ถามว่าสัมพันธ์กับการหายใจเอาฝุ่นลงไปหรือไม่ ก็แน่นอนว่า ถ้าทำให้เกิดการระคายเคืองและจามอย่างรุนแรงก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ แต่ว่าก็ต้องไปหาสาเหตุด้วยว่ามีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเพียงหนเดียวแล้วหายไป
"ผมคิดว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก แต่ถามว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ การไอหรือจามรุนแรงบางครั้งก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เหมือนกัน ถ้าเลือดออกคงต้องมีการประเมินให้ดีว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นไปได้ที่ไอจามรุนแรงแล้วเลือดออก โดยที่ไม่มีโรคร้ายแรงแต่อย่างใด" นพ.ฉันชาย กล่าว
นพ.ฉันชาย กล่าวว่า หากเลือดออกเพียงหนเดียวที่สัมพันธ์กับอาการไอหรือจามรุนแรง แนะนำว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจมาจากการระคายเคือง ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกแล้วเป็นเลือดออกมา ก็อาจแค่เฝ้าระวังก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นไปพบแพทย์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และมีเลือดออกต่อเนื่อง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ เจ็บคอมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร
นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การมีเลือดออกทางจมูก นอกจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตกแล้ว ยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ คือ อาจมีรอยโรคทางจมูกที่ทำให้เลือดออกได้ หรือโรคเรื้อรังที่ทำให้มีอาการเลือดออกทางจมูกบ่อยครั้ง เป็นๆ หายๆ หรือถ้าไอออกมาเป็นเลือดก็ต้องระวังการติดเชื้อในปอดที่ทำให้เกิดการไอเป็นเลือดได้ ซึ่งต้องไปหาสาเหตุ
นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ช่วงนี้ขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารหรือระดับฝุ่นละอองของพื้นที่รอบตัวให้ดี ถ้ามีฝุ่นละอองระดับสูง เช่น ถ้าฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำว่าว่าออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น หรือหากต้องออกไปก็อาจป้องกันด้วยอุปกรณ์เท่าที่เราหาได้เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็อาจพิจารณาว่าถ้าค่าเกิน 30 มคก./ลบ.ม.ก็อาจเลี่ยงการออกจากบ้าน
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวน่าจะมีโรคประจำตัว เพราะในคนปกติ จะไม่มีอาการไอจามเป็นเลือด เมื่อเจอกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่อาจเจอกับภาวะคอแห้ง แสบจมูกได้ ส่วนอาการไอจามเป็นเลือดอาจเกิดได้จากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ส่วนกรณีระบุว่ามีสมุนไพรป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้นั้น ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องข้อมูล แต่ที่แน่ชัดและดีที่สุด คือการเลี่ยง พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง งดทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่สีแดง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากฝุ่นสูงขึ้น คาดว่าตัวเลขจะเห็นชัดในอีก 3 เดือนข้างหน้า สำหรับปัญหาคนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย N95 จนขาดตลาด เห็นว่าหน้ากากาอนามัยเป็นการป้องกัน สามารถสวมหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 ชั้นกรองอากาศทดแทนได้ หรือใช้ผ้าขาวม้า เย็บ 4 ชั้น แทน แต่ว่าควรแก้ที่ต้นเหตุด้วย คือการลดแหล่งเกิดฝุ่นละออง