เวทีวิชาการโต๊ะกลถกประเด็น “ทำไมอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้าป.1” ชี้ ความคาดหวังของพ่อแม่ ให้ลูกได้เรียนที่ดี ส่งผลให้เกิดการแข่งขันโดยธรรมชาติ ขณะที่ “หมอสุริยเดว” ระบุระบบแพ้คัดออกในช่วงเด็กปฐมวัย เป็นการปลูกฝังความเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสาธารณะทั้งเป็นการทารุณกรรมเด็ก ด้าน อธิบดีกรมอนามัยเด็ก ฝากสร้างความเข้าใจและหาทางสกัดการคัดเลือกเด็กที่ใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การสอบ
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่อุทยาการเรียนรู้ทีเค ปาร์ค คณะทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดการประชุมเสวนาวิชาการโต๊ะกลม "ทำไมเด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้าป.1" โดย ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ตนมองเรื่องนี้ใน 2 มิติ คือ มองในมิติการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นภาพใหญ่ มีความพยายามทำให้สถานศึกษาในทุกพื้นที่มีคุณภาพเท่าเท่าเทียม ใครเกิดโตที่ไหนก็เรียนที่นั่น ซึ่งการปฐมวัยศึกษาหรือการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้รับผลกระทบอย่างแรงจากโครงสร้างที่ไม่ยึดโยง กับการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง และความเท่าเทียมกันครอบคลุมถึงทุกคน ต่อมาคือ มิติของครอบครัว ตนมองว่าด้วยความรักและความหวังดี ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองอยากให้อลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลที่ดีที่สุด สอนลูกได้อย่างมีความสุข เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีที่สุดทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่กลายเป็นทำให้เกิดช่องว่าง เกิดผลเสียต่อเด็ก อีกทั้งความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเด็กเองเราไม่เคยมอง ทั้งนี้ เมื่อมองการจัดการศึกษา พัฒนาการศึกษาโดยทั่วไปก็ยังแยกส่วนการทำงาน เช่นนี้ถ้าจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นและเข้าใจเด็ก
“ความเข้าใจและความคาดหวังของพ่อแม่ ทำให้เกิดการแข่งขันโดยธรรมชาติ เป็นการมองผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ลืมมองผลที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งที่ฐานชีวิตของคนๆ หนึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมวัย เพราะฉะนั้น การสร้างฐานชีวิตที่ดีแก่ลูกนั้นโรงเรียนเป็นตัวช่วยส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ลืมว่าฐานชีวิต โอกาสเปิดมาตั้งแต่เขาเริ่มปฏิสนธิ คลอดออกมา และเติบโตมาในครอบครัวก่อนจะถูกส่งต่อไปเรียนในระดับอนุบาล เด็กปฐมวัย ต้องการการเอาใจใส่ แนวปฏิบัติจากผู้ใหญ่ที่ทำอะไรก็ตามต้องสอดคล้องกับช่วงสำคัญในชีวิตของเด็ก ต้องไม่เร่งรัดจนเกินไปและช่วงเวลาการเล่นคือการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า”
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า จากการเข้าร่วมประชุมนักจิตวิทยาระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพูดถึงการก้าวสู่งสังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยลง มีการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในชีวิตมากขึ้น และเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยก็จะเข้าสู่โลกของเอไอ ทั้งนี้ มีการส่งสัญญาณกับกลุ่มนักจิตวิทยาด้วยว่าสิ่งที่มนุษย์มีเหนือหุ่นยนต์ คือ จินตนาการ จิตสำนึก คุณธรรม สายใยรัก และแรงบันดาลใจ ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ในระบบแพ้คัดออกของช่วงชั้นในเด็กปฐมวัยไม่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นเกิดการปลูกฝังความเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ และแม้แต่ความพอเพียงหลายสิ่งที่เป็นความรักก็ถูกเทกลายเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม เป็นประเด็นที่ถกในกลุ่มนักจิตวิทยาทั่วโลกตัวชี้วัดที่สะท้อนชัด คือ เวลานี้มีเด็กสักคนที่พร้อมเผชิญความลำบากขั้นพื้นฐาน เช่น ทำงานบ้านกลายเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะเขาต้องทุ่มเทเวลาไปอ่านหนังสือ ไปกวดวิชา กระทั่งพ่อแม่ก็แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ
“สิ่งที่มนุษย์มีเหนือหุ่นยนต์ เพราะเรามีก็อกสอง คือ แรงบันดาลใจและศรัทธา แต่ระบบแพ้คัดออกไปไม่ตอบอะไรกับคำว่าศรัทธาและแรงบันดาลใจ แต่กลายเป็นแรงกดดัน และระบบแพ้คัดออกยังไม่เหมาะสมต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะในกลไกทางจิตของแต่ละช่วงวัย ก็จะมีกระบวนการจัดการต่างกัน ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่เป็นคนเก่งและมีสมรรถนะการแข่งขัน จะต้องพัฒนาจิตสำนึกและคุณธรรมคู่ขนานไปด้วย และควรทำตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งหากทำเรื่องนี้ได้ดี ได้ความเก่งอื่นๆตามมา ขณะที่มุมมองนักวิชาการในหลายประเทศมองว่าระบบแพ้คัดออกช่วงปฐมวัยเป็นการทารุณกรรมเด็ก” นพ.สุริยเดว กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสอบเข้าเรียนของเด็ก ป.1 เป็นหนึ่งปรากฎการณ์ของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนับแต่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ... ขึ้น ต่างมีหลักการใหญ่ที่มองร่วมกันเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสย เติบโต เรียนรู้อย่างเป็นอิสระในวัยของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความหมายหยั่งรากลึกและยาวสำหรับมนุษย์หนึ่งคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.... ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น ตนจึงอยากฝากว่าเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติขอให้ผู้เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจ และอธิบายถึงความสำคัญของการเขียนกฎหมายฉบับ ต้องไม่ละทิ้งหลักการใหญ่ ที่สำคัญเมื่อไม่มีการสอบแล้ว จะสกัดอย่างไรไม่ให้เกิดวิธีการคัดเด็กในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรียกว่าการสอบด้วย