xs
xsm
sm
md
lg

"เจิมศักดิ์" จวกแก้ พ.ร.บ.หวย ให้เช็คเปล่ารัฐบาล 9 พันล. ชงขายสลากผ่านแอปฯ ตัดตอนเสือนอนกิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อ.เจิมศักดิ์” จวก แก้ พ.ร.บ.หวย เกาไม่ถูกที่คัน แค่แก้เก้อให้ คสช. แถมให้เช็คเปล่ารัฐบาล โอนเงินหลวงปีละ 9 พันล้าน ชี้สลากรูปแบบใหม่ ทายผลกีฬา-หวยออนไลน์-ลอตโต้ มาแน่ เสนอขายสลากผ่านแอปพลิเคชันแทนใบในรูปแบบ 6 หลักเหมือนเดิม ตัดตอนเสือนอนกิน ลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์

วันนี้ (15 ม.ค. ) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนา“สลากแพง แก้อย่างไรให้ถูกที่คัน?” โดย รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช.ขณะนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้สำนักงานสลากฯ ออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่เป็นการพนันได้มากขึ้น ทั้งการออกหวยลอตโต หรือหวยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดเร้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยอ้างว่าให้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี การแก้กฎหมายลักษณะนี้เท่ากับเป็นการให้เช็คเปล่ากับรัฐบาลในการออกผลิตภัณฑ์การพนันที่รัฐเป็นเจ้าของที่สำคัญคือการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการปรับโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้เข้าแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยลดรายได้เข้าแผ่นดินไปเพิ่มรายได้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 5% จากเดิมรายรับจากการขายสลาก60% นำมาเป็นรางวัล 28% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน 12% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เปลี่ยนมาเป็น 23% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน และ 17% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เท่ากับว่ารายได้ของแผ่นดินจะลดลงประมาณเกือบ 9 พันล้านบาทต่อปี และสำนักงานสลากฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 9 พันล้าน ซึ่งน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้อะไร

“ ที่น่าสังเกตคือการแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ เป็นการแก้กฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คำสั่ง คสช.ที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สั่งให้ลดรายรับจากแผ่นดินไปให้แก่สำนักงานสลากฯอย่างถาวร ต่างเพียงการยกเลิกข้อที่ให้นำเงิน 3% ไปตั้งกองทุนพัฒนาสังคมเพื่อสนับสนุนการทำงานลดปัญหาการพนัน และให้นำเงินคงเหลือคืนคลัง ซึ่งหาก คสช.จะยกเลิกคำสั่งนี้ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้สำเร็จ ยังดีกว่าและเหมาะสมกว่าการขอให้สนช.แก้ไขพ.ร.บ.สลากฯ” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร. เจิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วการจะแก้ปัญหาสลากแพงให้เกาถูกที่คัน จึงไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ. เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ระบบแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสามารถช่วยได้ โดยให้ผู้ซื้อสลากโหลดแอพพลิเคชั่นของสำนักงานสลากฯ และเข้าไปเลือกสลากว่าชอบใบไหน 1 ใบมีตัวเลข 6 หลัก แต่ละใบมีตัวเลขไม่ซ้ำกัน เหมือนสลากเดิมที่ขายอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อมีคนกดเลือกและจ่ายโอนเงินแล้ว ก็ระบุเลขบัตรประชาชนหรือสแกนลายมือผู้ซื้อก็ได้ แล้วผู้ซื้อก็จะได้รูปถ่ายการซื้อสลากฯ เป็นหลักฐาน เหมือนการโอนเงินธนาคารในปัจจุบัน เมื่อถูกรางวัลสำนักงานสลากฯ ก็โอนเงินไปให้ตามเลขบัญชีที่โอนไปซื้อสลาก จึงเป็นการโอนเงินรางวัลให้ไม่ผิดตัว ป้องกันการแอบอ้างความเป็นเจ้าของอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับตำรวจ วิธีนี้สามารถจำกัดผู้ซื้อที่เป็นเยาวชนอายุน้อยได้ เพราะเลขประจำตัวบัตรประชาชนจะบอกข้อมูลถึงอายุผู้ซื้อสลาก นอกจากนี้ผู้ซื้อยังสามารถเลือกใบสลากได้ง่าย อยากจะซื้อเลขอะไรก็ค้นหาจากแอพพลิเคชั่นได้ในราคาคงที่ไม่ต้องถูกโก่งราคา นี้จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสลากให้ผู้ซื้อซื้อตรงจากสำนักงานสลากโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และไม่ใช่เป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่แบบหวยออนไลน์ที่ให้เอกชนสัมปทานผูกขาดอย่างที่รัฐบาลก่อน ๆ เคยเสนอมา

“เมื่อเทคโนโลยีใหม่ในยุค 4.0 ได้พัฒนาขึ้น ธุรกรรมการซื้อขายสลากกินแบ่งฯ ก็น่าจะพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ต้นทุนทางการตลาดที่มีมูลค่า 17% ของรายได้จากการขายสลากฯ คิดเป็นเงินเกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีที่ต้องละลายไปกับระบบพิมพ์กับระบบจัดจำหน่ายที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล สามารถนำมาพัฒนาจ้างงานรองรับคนขายสลากเดิมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนวิธีขายนี้ และยังเหลือเงินไปพัฒนาประเทศมากขึ้นด้วย” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พรบ.สลากฯ ฉบับนี้ บอร์ด มีสิทธิเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้มากขึ้น แต่อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) คือรัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมากขึ้น แต่ถ้าหากเปลี่ยนรัฐบาล การออกผลิตภัณฑ์สลากอาจถูกยกเลิก หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ในรัฐบาลไหนก็เป็นได้ ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้อำนาจบอร์ด จึงต้องทำหน้าที่สำคัญ บริหารงานต้องเน้นธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรมีคณะกรรมการหรือหน่วยงานมาดูแลเรื่องผลกระทบ ทั้งด้านบวกและลบ ว่ากระทบกับสังคมอย่างไร ส่วนการเสนอให้ให้ใช้แอพพลิเคชั่น แทนสลาก ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นหลักการที่ควรจะทำ เมื่อเรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำนักงานสลากฯ ก็ควรมีหน้าที่ตอบโจทย์ อีกอย่างคนไม่ได้อยากซื้อเลข6ตัว แต่เขาอยากซื้อแค่2ตัว 3ตัว พอออก6ตัว คนก็หันไปเล่นใต้ดิน

“พ.ร.บ.สลากฯ พ.ศ. 2517 มีจุดโหว่ เนื่องจากเกิดมาก่อนที่จะมีหลักคิดธรรมาภิบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ในครั้งนี้คือ ความโปร่งใสในการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ก็ได้เสนอหลักการถ่วงดุลกรรมการหรือบอร์ดกองสลาก ต้องไม่มีผลประเด็นทับซ้อน เพราะนี่คือกองทุนสาธารณะ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” รศ.ดร.สังศิต กล่าว

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การแก้ปัญหาสลากแพงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย แค่เปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสลากที่ทำให้คนกลางหายไปก็จบ การขายผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นทางเลือกหนึ่งที่เห็นผลได้ชัดเจน การแก้กฎหมายให้เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเพื่อมาแก้ปัญหาสลากแพง โดยยกให้เป็นดุลยพินิจของบอร์ดและครม.เป็นการเปิดช่องโหว่ให้เกิดการรั่วไหลของเงิน ทำให้รัฐและสังคมสูญเสียผลประโยชน์ สิ่งที่อยากตั้งเป็นข้อสังเกตคือ การเปิดประตูให้ออกสลากได้หลายประเภทนี้ จะครอบคลุมถึงสลากทายผลกีฬาด้วย นั่นคือ ในอนาคตสำนักงานสลากสามารถรับทายผลพนันบอลหรือพนันมวยได้ทั้งสิ้น ซึ่งคงไม่พ้นการรับแทงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การปรับแก้กฎหมายที่ออกในยุค1.0 มารองรับปัญหาของสังคมยุค 4.0 แน่ใจหรือว่าจะรับมืออยู่ ขนาดปัญหาสลากแพงยังแก้ไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาที่จะตามมาจากการพนันบอลหรือพนันมวยได้หรือ


กำลังโหลดความคิดเห็น