เดือนมกราคมของทุกปี..ถัดจากเสาร์ที่สองของเดือนซึ่งเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” แล้ว ก็มีอีกวันสำคัญคือ“วันครู” ตรงกับวันที่ 16 มกราคม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยงานการศึกษา สถานศึกษาทั่วประจัดงานต่อเนื่องทั่วประเทศ
สำหรับการจัดงานวันครู ประจำปี 2562 ถือเป็นครั้งที่ 63 ภายใต้หัวข้อ “คุณธรรมนำครูไทย สร้างเด็กไทยหัวใจซื่อตรง” พิเศษกว่าทุกปีเพราะจัดต่อเนื่อง 3 วัน คือระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม จากเดิมเพียงวันเดียว โดยถือเอาห้วงเวลาปีสุดท้ายของรัฐบาลในการจัดงานวันครู กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงผนวกกิจกรรมเผยแพร่ผลงานด้านการศึกษาในรอบ 4 ปี ภายใต้แนวคิด “ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี” เข้าไว้ด้วยกัน ยึดพื้นที่ตลอดแนวถนนข้างกระทรวงศึกษาธิการ บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม และเตรียมแถลงใหญ่ในวันที่ 17 มกราคมนี้ด้วย
ปัจจุบันครูทั่วประเทศในระบบมีประมาณ 4 แสนคน หากรวมบุคลากรทางการศึกษา จะอยู่ที่ประมาณ 6.5 แสนคน ขณะที่ครูในฐานะ "พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์" ถูกตั้งความหวังในการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรมและความรับผิดชอบ ดังนั้น การขับเคลื่อนการศึกษาไม่ใช่แค่คุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็ก ยังมีคุณภาพครูที่ต้องดูแล นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในอดีตมีงานวิจัยจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่า ครูใช้เวลานอกห้องเรียนกว่า 40% และแม้ว่าในโลกยุคใหม่ จะเป็นยุคเทคโนโลยี มีการใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มากขึ้น มีกูเกิลให้การค้นหาข้อมูล แต่เอไอไม่สามารถเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกได้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะมาทดแทนครูได้ กระทั่งเป็นผู้ช่วยครูก็ไม่ได้ แต่ทำได้เพียงเป็นศูนย์ข้อมูลและช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้ คือให้ครูทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และดูแลให้ครูได้มีความรู้ความสามารถเป็นครูมืออาชีพ มีมาตรฐานวิชาชีพและมีจิตวิญญาณความเป็นครู เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทุกมิติตามศักยภาพ ซึ่งใน ช่วงเวลา 4 ปีได้ริเริ่มนโยบายและแก้ปัญหาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง ดังเช่นสมัยพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นรมว.ศึกษาธิการ ได้มีการเริ่มซ่อมแซมบ้านพักครู ตนก็มาสานต่อทั้งซ่อมแซมและสร้างบ้านพักครูใหม่ ยังมีการปลดล็อกการต่อใบอนุญาตวิชาชีพครูที่สะดวกมากขึ้น
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวอีกว่า มาในยุคของตนเรื่องที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ เริ่มใช้มาตั้งแต่ 5 ก.ค.2560 เน้นให้ครูได้อยู่กับใกล้ชิดเด็ก ยกเลิกการเขียนผลงานทำแต่เอกสาร ซึ่งที่ศธ.น้อมนำแนวทางพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขามาดำเนินการจนสำเร็จ ยังมีการจัดอบรมคูปองพัฒนาครู ที่กระจายไปสู่ทุกพื้นที่ไม่เคยมีมาก่อน มีครูกว่า 3.6 แสนคนมาลงทะเบียน และพึงพอใจกว่า 90% ยังมีอีกโครงการที่เพิ่งเกิดขึ้นไปช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา คือ การให้จัดสรรงบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท เพื่อให้โรงเรียนจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและภารโรง ประจำโรงเรียนตรงนี้เพื่อช่วยปลดล็อกภาระงานของครู และล่าสุดในช่วงปีใหม่ตนได้สั่งการให้ยกเลิกการกรอกข้อมูลในโปรแกรมบันทึกประวัติการปฏิบัติงานหรือ Logbook สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู เพื่อประกอบการเสนอขอให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะอีกด้วย
ขณะที่ฝั่งผู้ปฏิบัติอย่าง นางศิรพัชร์ รพีพัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการบ้านเชียงสือราษฎร์อำนวย จังหวัดสกลนคร สะท้อนความเห็นว่า มองภาพรวมนโยบายต่างๆ เรื่องที่ตนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีและชื่นชมเพราะช่วยลดภาระให้ครูได้มากก็คือ การให้สนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและภารโรง ตรงนี้ช่วยแบ่งเบาภาระได้มากทำให้ครูมีเวลาในการปฏิบัติการสอนและอยู่ใกล้ชิดเด็กมากขึ้น แต่เรื่องที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่อยากให้เร่งแก้ไขคือ ปัญหาขาดแคลนครู ทั้งที่ในระดับนโยบายสามารถตรวจสอบอัตราว่างหลังเกษียณอายุราชการล่วงหน้าได้ 5-10 ปีแต่ท้ายสุดเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาของหลายๆโรงเรียน อย่างโรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 แม้จะมีนักเรียน 213 คน แต่ก็ยังมีปัญหาขาดครู โรงเรียนก็ต้องหาเงินจ้างครูอัตราจ้างเพิ่ม 2 คน
“สิ่งที่อยากฝากไว้คือการกำหนดนโยบายต่างๆทั้งพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนอยากให้ขอให้เป็นนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง และต้องคำนึงถึงความแตกต่างกันของบริบทแต่ละพื้นที่ บางคนอยู่ในพื้นที่ชายขอบจะให้ดีเหมือนกันที่อื่นๆก็ไม่ได้ ซึ่งครูนั้นเป็นเฟืองจักรสำคัญในการทำงาน แต่จะคาดหวังแค่ให้ครูทำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการพัฒนาการศึกษาทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับบนมาถึงระดับล่างต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน อีกทั้ง ปัจจุบันทุกคนก็คาดหวังกับครู สังคมก็ต้องยอมรับกับความเป็นครูด้วย ขณะที่ชุมชนในพื้นที่ก็ต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการพัฒนาเด็ก”นางศิระพัชร์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายโอฬาร บุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง บอกว่า การกำหนดนโยบายต่างๆมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็ก และการทำงานของครู ซึ่งมีภาระงานค่อนข้างสูง จึงอยากเสนอว่า ศธ.ในฐานะผู้มอบนโยบายทำอย่างไรก็ได้ที่จะช่วยลดภาระให้แก่ครู เพื่อให้ครูได้มีเวลาในการดูแลลูกศิษย์อย่างเต็มที่ เพราะการศึกษาจะเกิดผลเช่นไรมีผลตั้งแต่ระดับนโยบายลงมา โดยครูเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งยังเป็นแบบอย่างในการนำพาเด็กไปสู่การเรียนรู้ และการพัฒนา ซึ่งในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาก็คาดหวังให้ครูได้มีเวลาดูแล อบรมสั่งสอนและใกล้ชิดกับเด็กให้มากที่สุด
“อยากขอให้ช่วยดูแลขวัญและกำลังใจของครู และเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิทยฐานะ อยากให้พยายามกำหนดแนวทาง นำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนที่เกิดจากการปฏิบัติงานของครูต่อนักเรียน ไปเป็นเครื่องมือในการประเมินมากกว่าจะต้องกรอกข้อมูลหรือทำเอกสารลง เป็นต้น”นายโอฬาร กล่าว.