สมาคม รพ.เอกชน แจงค่ารักษาแพง เพราะต้องลงทุนเองทั้งหมด ต่างจากรัฐที่มีเงินงบประมาณ ทำให้ใบเสร็จค่ารักษาต่างกันฟ้ากับเหว ชี้ยิ่งมีบริการมาก ใช้เทคโนโลยีใหม่ ต้นทุนยิ่งสูง ส่วนค่าหมอไม่ได้กำหนดเอง อยู่ที่แพทยสภา หวั่นคุมราคาทำให้ รพ.ไม่พัฒนา แข่งต่างประเทศไม่ได้ แนะผู้ป่วยไม่ล้มละลายแน่ หากใช้ตามสิทธิการรักษา
วันนี้ (14 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวกรณีการกำหนดราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ว่า เรื่องค่ายา รพ.เอกชนมีราคาแพง ขอชี้แจงว่า มาจากที่ รพ.เอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด และถูกควบคุมโดยกฎหมาย คือ พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดเรื่องมาตรฐานต่างๆ เช่น โรงพยาบาลแต่ละขนาดต้องมีจำนวนแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ห้องผ่าตัด จำนวนเท่าใด มาตรฐานในการจัดเก็บยาเป็นอย่างไร รวมถึงต้องยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย ทำให้ยาไม่ตีกัน จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ การตรวจสอบยาต่างๆ เป็นต้น ทำให้ใบเสร็จออกมาต่างจาก รพ.รัฐ ที่ไม่มีค่าพวกนี้รวมอยู่ เพราะอยู่ในเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่มีการให้บริการมาก มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ หรือการอบรมบุคลากร ก็ยิ่งมีการลงทุนสูง ต้นทุนก็ยิ่งสูง ค่าใช้จ่ายของรพ.เอกชนแต่ละแห่งจึงต่างกัน เพราะต้นทุนการบริการไม่เท่ากัน
"เชื่อว่า หากทุก รพ.ทั้งรัฐและเอกชนต่างอยู่ในกฎหมายเดียวกันก็จะทำให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คำนวณง่าย เพราะมีใบเสร็จแบบเดียวกัน เหมือนอย่างไต้หวัน ซึ่ง รพ.รัฐและเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ต้นทุนวิธีคิดก็จะเหมือนกันทั้งหมด" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวและว่า ส่วนค่าแพทย์ที่ระบุว่าสูงนั้น ถูกกำหนดโดยแพทยสภา ไม่ได้ตั้งราคาเอง และไม่ได้เรียกเก็บเกินจากนี้ ล่าสุดทราบว่าทางแพทยสภาอยู่ระหว่างการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับใหม่
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.เอกชน จัดเป็นรพ.ทางเลือก ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างปีที่แล้วมีผู้ป่วยนอกประมาณ 60 ล้านคน ผู้ป่วยในประมาณ 4 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท และด้วยศักยภาพและมาตรฐานทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความนิยมสูงกว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วยซ้ำ เพราะเราทำตามนโยบายเมดิคัล ฮับ ซึ่งต่างชาติเข้ามารักษาที่เราเพราะค่ารักษาไม่แพง บุคลากรเป็นมิตร ความสามารถของแพทย์ มีความเชี่ยวชาญ และเทคโนดลยีที่ทันสมัย แต่หากมีการควบคุมเรื่องราคา ก็จะไม่เปิดเสรี และทำให้ไม่เกิดการพัฒนา เพราะไม่มีทุนไปซื้อเทคโนโลยีหรือพัฒนาศักยภาพตัวเองที่จะแข่งขันได้
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับ รมว.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวให้เข้าใจว่า เราปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ทำให้เกิดต้นทุนค่ารักษา ค่ายาเพิ่มขึ้น ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจดี คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบมาก การจะนำมติ กกร.เข้าครม.ต้องมีการคุยกันให้มากกว่านี้ จะเดินหน้า ถอยหลังอย่างไร ทั้งนี้ คนไทยมีสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งหากเข้าตามระบบเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ส่วน รพ.เอกชนจัดเป็น รพ.ทางเลือก ซึ่งการที่คนไม่เข้า รพ.รัฐอาจเพราะไม่รู้สิทธิหรือไม่มั่นใจใน รพ.รัฐหรือเพราะรอคิวนาน ตรงนี้ผู้ให้บริการต้องดำเนินการแก้ไข แต่สิ่งที่ทาง รพ.เอกชนเข้ามาช่วย คือ เรื่องของสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (ยูเซป) ที่สามารถเข้ารับบริการ รพ.ที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเมื่ออาการดีขึ้นครบ 72 ชั่วโมง ก็ส่งตัวกลับรักษา รพ.ตามสิทธิ ซึ่งตรงนี้ รพ.เอกชนแม้จะเบิกได้แค่ 20% แต่ก็ยินดีช่วยเหลือ เพราะเป็นเรื่องถึงแก่ชีวิต
"การเปรียบเทียบค่ารักษา ค่ายา ระหว่าง รพ.รัฐและเอกชน ไม่ได้เปรียบเทียบในสิ่งที่เหมือนกัน หรือไม่ได้เปรียบเทียบแบบ Apple to Apple แต่เปรียบเทียบในสิ่งที่ต่างกันอยู่ ซึ่งรัฐนั้นมีเงินงบประมาณในส่วนของเงินเดือนบุคลากร ค่าแพทย์ ค่าบริการ และค่าบริหารต่างๆ ซึ่งหากบวกตรงนี้เข้าไปก็ประมาณ 50-60%" นพ.เฉลิม กล่าวและว่า เรามีศักยภาพด้านเฮลธ์แคร์สูงเป็นอันดับที่ 27 ของโลแล้ว ทำได้เหนือกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ถ้าตอนนี้มาควบคุม พัฒนาการก็จะไม่เกิด อยากให้เข้าใจว่า รพ.เอกชนเป้นทางเลือก เหมือนโรงแรมแต่ละแห่งก็มีราคาแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่และต้นทุน