xs
xsm
sm
md
lg

ฮือค้าน ร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฯ เปิดทางหมอด้านอื่นปรุงยาก้าวล่วงวิชาชีพแพทย์แผนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย แถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร(ภาพจากเฟซบุ๊ก สภาการแพทย์แผนไทย)
สภาการแพทย์แผนไทย แถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฯ เปิดทางผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ปรุงยาแผนโบราณหรือยาแผนไทย เพื่อใช้กับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ทั้งยังล้ำเข้าไปถึงขั้นรักษาคนไข้ด้วยยาแผนไทย ก้าวล่วงวิชาชีพการแพทย์แผนไทยอย่างไร้มารยาท จี้ตัดมาตราที่เป็นปัญหาออกจากร่างฯ




เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 62 สภาการแพทย์แผนไทย นำโดย พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ....ก้าวล่วงวิชาชีพการแพทย์แผนไทยอย่างไร้มารยาท ใจความว่า รัฐบาลและ สนช.กำลังกระทำอนันตริยกรรมต่อภูมิปัญญาและศาสตร์การแพทย์แผนไทยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยการเร่งรัดผ่านร่าง พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ... ซึ่งมีบทบัญญัติที่ก้าวล่วงวิชาชีพการแพทย์แผนไทยอย่างร้ายแรง ในมาตรา 18(2) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สามารถก้าวล่วงเข้ามาปรุงยาแผนโบราณหรือยาแผนไทยเพื่อใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งเป็นการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่สงวนไว้เฉพาะแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นที่ไม่สามารถก้าวล่วงวิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านนั้น แม้แต่ในหมู่แพทย์แผนไทยด้วยกันเอง ก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพข้ามสาขาหรือข้ามประเภทที่ตนได้รับอนุญาตได้ โดยมีการกำหนดโทษตามกฎหมายไว้อย่างรุนแรง

อันที่จริงก่อนที่จะมีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวดนั้น ในหมู่แพทย์แผนไทยได้รับการอบรมสั่งสอนจากบูรพาจารย์ให้รู้จักคำว่า “มารยาททางวิชาชีพ” และมารยาทที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ ให้ประกอบโรคศิลปะหรือประกอบวิชาชีพตามใบอนุญาตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเท่านั้น เป็นที่เข้าใจว่ามารยาททางวิชาชีพดังกล่าวน่าจะเป็นข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดในวงการวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขแผนปัจจุบันด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่พี่น้องชาวเภสัชกรรม (แผนปัจจุบัน) รวมตัวประท้วงอย่างรุนแรงต่อร่างกฎหมายที่เปิดช่องให้วิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นเข้ามาก้าวล่วงวิชาชีพของตนอย่างไร้มารยาท

นี่แค่กรณีการก้าวล่วงการผลิตยา ปรุงยาและการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น แต่กรณีร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ....มาตรา 18(2) นั้นเป็นการก้าวล่วงที่ร้ายแรงกว่า เพราะไม่เพียงแค่เปิดช่องให้แพทย์และสาธารณสุขแผนอื่นเข้ามาผสมยา ปรุงยาแผนโบราณและยาแผนไทยได้เท่านั้น แต่ยังล้ำเข้าไปถึงขั้นรักษาคนไข้ด้วยยาแผนไทยด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการก้าวล่วงวิชาชีพอย่างไร้มารยาทแล้ว ยังไม่คำนึงถึงการคุ้มครอง “มหาชน” ที่อาจได้รับอันตรายอันเกิดจากการประกอบโรคศิลปะแห่ง “ผู้ที่ไร้ความรู้และมิได้ฝึกหัด” ซึ่งขัดกับพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงตราพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466

เพื่อพิทักษ์พระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านการแพทย์ดังกล่าว และเพื่อการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพทางการแพทย์ เราชาวแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ขอให้รัฐบาล และ สนช. ยกเลิกมาตรา 18(2) ออกจากร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ... ตามที่มวลสมาชิกสภาการแพทย์แผนไทยเคยร้องขอให้ตัดกออกไปในช่วงการทำประชพิจารณ์ ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560

เหตุผลและความจำเป็นนำยาแผนไทยออกจากร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ....

๑. ยาแผนไทยมีสภาพเป็นยา ที่มุ่งหมายใช้เพื่อการประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยเท่านั้น

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้นิยามศัพท์ “ยาแผนไทย” ไว้ดังนี้
“ยาแผนไทย” หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรง หรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพร ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ตามศาสตร์องค์ความรู้การแพทยแผนไทยหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นยาแผนไทย

นิยามดังกล่าวขาดความสมบูรณ์ ขาดความชัดเจน กล่าวคือ มิได้ระบุความมุ่งหมายใช้ไว้ ดังนี้
“มุ่งหมายใช้ในการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์พื้นบ้าน.....”

ระบบยาของประเทศมี ๒ ระบบ คือ
๑.ยาแผนปัจจุบัน (ยาเคมี สารสังเคราะห์ สารสกัด)
๒.ยาแผนทางเลือก (ยาจากสมุนไพร)

ยาทั้ง ๒ ระบบ ใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน การผลิต การนำไปใช้กับคนไข้ แตกต่างกัน
แพทย์แผนไทยเป็นแพทย์ทางเลือก ยาแผนไทย ผสม ปรุง จากสมุนไพร ตามศาสตร์องค์ความรู้แพทย์แผนไทย ดังนั้นยาแผนไทย จึงควรระบุให้ชัดเจนว่า “มุ่งหมายใช้ในการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยไทยประยุกต์ การแพทย์พื้นบ้าน....” ซึ่งจะตรงกับองค์ความรู้เฉพาะทาง เพื่อไม่เป็นการก้าวล่วงในวิชาชีพซึ่งกันและกัน

๒. ยาแผนไทย มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากยาสมุนไพรอื่นที่มิได้ผสม ปรุง ตามศาสตร์องค์ความรู้แพทย์แผนไทย

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมาย “สมุนไพร” “สารสำคัญ” ดังนี้
“สมุนไพร” หมายความว่า ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ ที่ใช้ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร
“สารสำคัญ” หมายความว่า วัตถุอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือสารในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ใช้เพื่อบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำรุงร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
จากนิยามสมุนไพร ยาสมุนไพรจึงเป็นยาที่ได้จากผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ ที่ใช้ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เพื่อเป็นยา โดยจะใช้องค์ความรู้ใดๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามศาสตร์องค์ความรู้แพทย์แผนไทย จากนิยามสารสำคัญ สารสำคัญในสมุนไพร เป็นวัตถุที่แสดงถึงสรรพคุณหรือข้อบ่งใช้ของยา

จากนิยามทั้ง ๒ ยาสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาแผนไทย จะใช้สารสำคัญเพื่อการระบุสรรพคุณ หรือข้อบ่งใช้ของยาเท่านั้น ยาแผนไทยเป็นยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรง หรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพร โดยใช้ศาสตร์องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยเท่านั้นในยาแผนไทยการระบุสรรพคุณ ใช้รสยา ฤทธิ์ยา เพื่อการระบุสรรพคุณของยาเท่านั้น มิได้ใช้สารสำคัญเพื่อการระบุสรรพคุณยา ดังนั้น ยาแผนไทยจึงมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากยาสมุนไพรอื่น

๓. ยาแผนไทย มีความแตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่มิใช่ยา
ยาเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ มีความจำเป็นแก่มนุษย์ ขาดไม่ได้ ยาจึงมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั่วไป จึงไม่ควรนำยากับผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ยามาไว้ร่วมพระราชบัญญัติเดียวกัน

๔. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการก้าวล่วงในวิชาชีพ กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาผสม แบ่ง ขาย สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกันกับหลักสากล กระทบการให้บริการประชาชนตามหลักเกณฑ์ คุณภาพ ความถูกต้องและมาตรฐานของวิชาชีพ

ร่าง พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาตรา ๑๘ (๓)(๔)(๕) อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย กล่าวคือ สามารถผสมยา สามารถแบ่งยา สามารถขายยา ให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายของตน ในสถานที่ประกอบการของตน เป็นการกระทำที่ขัดกันกับหลักสากล กระทบการให้บริการประชาชนตามหลักเกณฑ์คุณภาพ ความถูกต้องและมาตรฐานของวิชาชีพ อาจกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการสุขภาพที่เหมาะสม ถูกต้องและมาตรฐาน การก้าวล่วงวิชาชีพยังเป็นการริดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพอีกด้วย

๕. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจยาจากต่างประเทศเข้ามาประกอบการแข่งขันกับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยที่ผู้ประกอบการภายในประเทศยังไม่มีความพร้อม

มาตรา ๑๙ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร มาตราดังกล่าวมิได้ระบุคุณสมบัติที่สำคัญ คือ “ต้องมีสัญชาติไทย”

การไม่ระบุคุณสมบัติดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาที่จะเปิดทางให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจภายในประเทศ โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจภายในประเทศหลายรายยังอ่อนแอ ยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับมาตรฐานขั้นสูงของต่างชาติ จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จะเกิดผลเสียต่างๆ เช่น การล้มเลิกกิจการของผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย การเข้าครอบงำธุรกิจยาของกลุ่มทุนยาข้ามชาติ ผลเสียจะเกิดแก่ประเทศชาติ ในด้านความมั่นคงทางยาและประชาชน จะต้องซื้อยาที่มีราคาสูงขึ้นจากการผูกขาดแต่อาจไม่มีคุณภาพตรงตามความรู้ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย

๖. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติล่วงรู้ความลับในองค์ความรู้ตำรับยาแผนไทย ซึ่งควรสงวนไว้เฉพาะคนไทยเท่านั้น

มาตรา ๕๔ ในกระบวนการพิจารณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เจ้าหน้าที่ บุคคล องค์กร หรือหน่วยงาน ทำหน้าที่ประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร

มาตรา ๕๔(๓) เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้รับการขึ้นบัญชีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและเลขาธิการมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ยาแผนไทยเป็นอัตลักษณ์ของการแพทย์แผนไทยที่ต่างประเทศต้องการและบรรพบุรุษหมอไทยได้เก็บไว้ให้แก่ชนชาติไทยเท่านั้น ต่อเนื่องมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาติ ควรเป็นความลับ เก็บสงวนไว้เฉพาะคนในชาติเท่านั้น มิควรให้ต่างชาติล่วงรู้หากต่างชาติล่วงรู้ ด้วยความเจริญทางเทคโลยี่ที่ก้าวหน้ากว่า อาจถูกนำไปใช้ต่อยอดและจดลิขสิทธิ์ จะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล

จากเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องนำยาแผนไทยออกจากพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ....


กำลังโหลดความคิดเห็น