xs
xsm
sm
md
lg

“หมอโสภณ” ไม่มั่นใจตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปัญหา “สิทธิบัตรกัญชา” ได้จริง หวั่นยืดเวลาออกไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธาน อภ. เผย ไม่แน่ใจคณะทำงานร่วมจะแก้ปัญหาคำขอ “สิทธิบัตรกัญชา” ได้ ชี้ ที่ผ่านมาไม่เคยชี้แจงให้สังคม ประชาชนเข้าใจ จากนี้เดินหน้าต่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสารโรค มุ่งประโยชน์เพื่อการรักษา ด้าน “หมอธีระวัฒน์” ชี้ แค่ยกเลิกสิทธิบัตรที่มีปัญหาก็จบขึ้นอยู่กับ พณ. จะทำหรือไม่

จากกรณี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือการจดสิทธิบัตรกัญชาร่วมกับตัวแทนภาคประชาสังคม มูลนิธิสุขภาพไทย นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสิทธิบัตร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch และ เกษตรกร มีความเห็นร่วมกันในการตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อยุติตามแนวทางการจดสิทธิบัตรกัญชาตามกฎหมายนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (12 ม.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานร่วมนั้น ตนไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาได้จริงหรือไม่ เกรงว่า จะทำให้ล่วงเลยเวลาไปอีก ภายใน 7 วัน ที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตกำหนดว่าต้องเคลียร์ให้ได้ ก็ดูจะไม่เป็นจริง เพราะหากทำได้จริง ก็ควรดำเนินการได้ตั้งนานแล้ว ที่สำคัญประเด็นข้อท้วงติงเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ เบื้องต้นมี 13 คำขอนั้น ก็ชัดเจนว่าขัดต่อพ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9 ที่ระบุว่า ห้ามขอจดสิทธิบัตรกัญชาที่เป็นสารจากธรรมชาติ ซึ่งทำไม่ได้ ก็ไม่ควรผ่านตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่นี่ผ่านมาจนถึงประกาศโฆษณา โดยข้อท้วงติงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีข้อท้วงติงอื่นๆที่เคยเป็นข่าวใหญ่โตมากมาย แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้คำอธิบายอย่างชัดเจน

“หากคณะทำงานร่วมฯแก้ปัญหาสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาได้จริง ทำให้สังคมคลายข้อสงสัยได้ ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาสังคมทราบข่าวจากกลุ่มคัดค้านเพียงอย่างเดียว แต่ฝ่ายที่ต้องชี้แจงให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนกลับไม่มีคำอธิบายเป็นข้อๆ แล้วจะให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร แม้แต่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เคยทำหนังสือไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอให้ตอบคำถามต่างๆ และขอความมั่นใจว่า อภ. จะทำการพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคจะทำได้หรือไม่ อย่างไร มีการทวงถามไปก็ไม่ได้คำตอบ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมจึงยังไม่แน่ใจ แม้ท่านสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญและตั้งคณะทำงานร่วมฯ แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มีกรอบเวลาชัดเจนแค่ไหน” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อผลการหารือยังไม่ชัดเจน ต้องรอออกไปอีก 7 วัน ทางอภ.จะดำเนินการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ อภ. มีคณะทำงานพิจารณาเรื่องกฎหมาย เพื่อดูว่าเรื่องสิทธิบัตรจะส่งผลต่อการทำงานของ อภ. อย่างไร แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ทาง อภ.จะมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ไทยแทน โดยพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสารสำคัญเพื่อรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง สายพันธุ์ที่ 1 มีสารสำคัญรักษาโรค ก. ได้ หรือสายพันธุ์ที่ 2 มีสารสำคัญรักษาโรค ข. ได้ เป็นต้น โดยจะผลิตสารในรูปของน้ำมันจากดอกกัญชา ซึ่งมีกฎหมายที่กำลังคลายล็อกออกมาให้สามารถใช้ทางการแพทย์ได้

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหนึ่งในกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า จริงๆ ไม่ต้องตั้งคณะทำงานร่วมอะไรมากมาย แค่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่มีปัญหา ขัดต่อ พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ก็จบแล้ว แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กลับไม่ทำ และนายสนธิรัตน์ ก็ไม่สามารถให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมายได้อีก ตนไม่เข้าใจว่า ทำเรื่องง่ายๆ ให้ยากเพราะอะไร ตอนนี้มีอีกหนทางที่จะเป็นทางออกเรื่องนี้ คือ ในเมื่อปัจจุบัน กัญชา ยังไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ตามร่างกฎหมายคลายล็อก ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการดำเนินการ จึงสามารถใช้ข้อดีจากจุดนี้ โดยใช้ว่า กัญชาเป็นยาเสพติด ไม่สามารถมายื่นขอจดสิทธิบัตรได้ และขอให้คำขอสิทธิบัตรที่ขอมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดเป็นโมฆะ ก็จะเป็นอีกวิธี

“ปัญหาคือ กระทรวงพาณิชย์ จะใช้วิธีนี้หรือไม่ เพราะหากไม่ทำ และรอจนกฎหมายคลายล็อกประกาศใช้ เรื่องจะพลิกทันที เพราะแทนที่ก่อนหน้านี้เราคิดว่าจะมีประโยชน์กับผู้ป่วย แต่สุดท้ายไม่ใช่ กลายเป็นกฎหมายคลายล็อกให้ประโยชน์ต่างชาติเข้ามาขายสารสกัดกัญชา เรียกว่า ขายชาติให้เขา เมื่อตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น เราต้องป้องกันก่อน ทุกอย่างต้องเป็นโมฆะ และให้เริ่มนับหนึ่งใหม่หลับกฎหมายคลายล็อกให้กัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เพียงแต่ก็ยังเป็นยาเสพติดอยู่” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น