สภานักเรียนระดับประเทศยื่น 3 ข้อเสนอให้รัฐบาล พร้อมขอร่วมสนับสนุน เรียนรู้วิถีประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง ขณะที่ “ธีระเกียรติ” ชี้นักเรียนร่วมสังเกตได้เป็นสิทธิในฐานะประชาชน แต่ถ้าเข้าคูหาให้ ศธ.จัดการคงไม่ได้ ย้ำทุกการเลือกตั้งครู-สถานศึกษามีส่วนสำคัญ
วันนี้ (12 ม.ค.) เวลา 10.15 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำคณะสภานักเรียนระดับประเทศ กว่า 200 คนเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เพื่อรับฟังโอวาทและมอบข้อเสนอของสภานักเรียนระดับประเทศ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2562 เพื่อนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศธ.นำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ
นายวีระพล ช่างไถ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนยโสธรพิทยาคม จ.ยโสธร ประธานสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2562 กล่าวว่า สภานักเรียนจากทั่วประเทศได้หารือร่วมกันและมีข้อเสนอใน 3 ประเด็น คือ 1.การน้อมนำพระบรมราโชบาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยขอให้มีการปรับหลักสูตรสถานศึกษา เน้นให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีจิสำนึกดี กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ,สถานศึกษาจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบตัวตน ปรับกิจกรรมเรียนรู้ตามความต้องการเฉพาะบุคคล ส่งเสริมทักษะอาชีพ ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ, ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา โดยให้สภานักเรียนแต่ละโรงเรียน ปฏิบัติกิจกรรม "ทำความดีด้วยหัวใจกับ TSC" เผยแพร่ผ่าน สพฐ.
2.การส่งเสริมให้นักเรียนกล้าแสดงออกในทางที่ถูกและเหมาะสมในสถานศึกษา ชุมชนและสังคม โดยขอให้ส่งเสริมให้มีช่องทางในการแสดงออกทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์ เช่น จัดรายการวิทยุ ,สนับสนุนให้นักเรียนกล้าพูด กล้าแสดงออกตลอดจนนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนในโรงเรียนและต่อสาธารณะชนอย่างหลากหลาย,ส่งเสริมให้มีเวทีในการแสดงออก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านต่างๆได้แสดงอย่างเต็มความสามารถ,สนับสนุนการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่กิจกรรมที่เหมาะสม เช่น ผ่านเพจเฟซบุ๊ก (Facebook)การถ่ายทอดสดผ่านยูทูป (YouTube)
นายวีระพล กล่าวต่อไปว่า และ3.การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมประชาธิปไตยสู่การเลือกตั้ง โดยในระดับครอบครัว ส่งเสริมและปลูกฝังประชาธิปไตยภายในครอบครัว,ระดับโรงเรียน ให้ความรู้และสนับสนุนวิถีประชาธิปไตยภายในห้องเรียน ได้เรียนรู้ผ่านหลักธรรม 3 ประการ คือ คารวธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรม และนำไปปฏิบัตินอกห้องเรียน จัดอบรมและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าใจขั้นตอนการเลือกตั้งและกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อสามารถแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง และระดับสังคม ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ส่งเสริม สนับสนุนสภานักเรียนในการดำเนินกิจกรรม เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ และสนับสนุนเครื่องลงคะแนนระบบอิเล็กทรอนิกส์กับสภานักเรียนของทุกโรงเรียนในการดำเนินกิจกรรมการเลือกตั้งในโรงเรียน ให้สภานักเรียนได้เข้าร่วมสังเกตการเลือกตั้งในระดับประเทศเพื่อเรียนรู้และซึมซับจากสถานการณ์จริง
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า สภานักเรียนไม่มีข้อเสนอหลายเรื่องที่น่าสนใจ ตนได้เน้นย้ำด้วยว่าปีนี้เป็นปีพิเศษที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราโชวาท ความว่า “เด็กทุกคนควรหมั่นศึกษาหาความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดี มีระเบียบวินัย เพราะว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญและความสำเร็จในชีวิตได้ ในวันข้างหน้า” โดยพระราโชวาทนี้ ระบุชัดเจนว่า หากเราหมั่นศึกษาหาความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดี มีระเบียบวินัยได้ ชีวิตก็จะมีความสุข ความเจริญและความสำเร็จ ซึ่งการหมั่นศึกษาความรู้ก็คือ จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนตลอดเวลา สงสัยอยู่เรื่อยๆ ใช้เวลาว่างในการเข้าห้องสมุดหารือกับผู้รู้ การประพฤติตนเป็นคนดี คือ ไม่ทำชั่ว มีจิตอาสา ช่วยเหลือและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และมีระเบียบวินัยรู้จักบริหารจัดการเวลา
“ส่วนที่นักเรียนจะขอเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง จริงๆนักเรียนก็มีสิทธิเป็นผู้สังเกตการณ์ในฐานประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เข้าไปในคูหาโดยให้ ศธ.เป็นผู้จัดการให้คงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ครูและสถานศึกษาก็เป็นกำลังสำคัญอยู่แล้ว”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว