xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ เด็กเข้าใจผิด "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยเลิกสูบ 80% เห็นขายทางโซเชียลมีเดีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โพลยุวทัศน์ เผยเด็ก-วัยรุ่นเข้าใจผิด "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ถึงเกือบ 40% กว่า 76%รับรู้มาจากสื่อออนไลน์ ยอมรับเคยเห็นการขายผ่านโซเชียลมีเดีย 80% ตลาดนัด 39%

​วันนี้ (11 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนแห่งสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (Youth Poll) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) แถลงข่าวเปิดผลสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย หลังกลุ่มธุรกิจยาสูบมีความพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ถูกกฎหมาย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชนเป็นปัญหาใหญ่ของเกือบทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ดึงดูดเยาวชนทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกา คือ มี เยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้า 3.6 ล้านคน เพิ่มเติมจากเยาวชนที่สูบบุหรี่ธรรมดา และวงการแพทย์ในอเมริกายังไม่รู้ว่าจะช่วยเยาวชนเหล่านี้เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างไร เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดนิโคติน สารตัวเดียวกันกับที่ทำให้คนเสพติดบุหรี่เลิกยากมาก

​ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท) ในฐานะหัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนฯ หรือ Youth Poll เปิดเผยว่า “การสำรวจครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้รัฐบาลเห็นปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นและเพื่อให้รับรู้ถึงเสียงของเด็กและเยาวชนที่ไม่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ถูกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวจะเป็นอุตสาหกรรมยาสูบ มากกว่าผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกลายจะเป็นกลุ่มลูกค้าคนสำคัญของธุรกิจยาสูบ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กและเยาวชน จำนวน 1,647 คน จากทั่วประเทศ ที่มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี โดยมีเด็กและเยาวชน ร้อยละ 39.8 มีความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกบุหรี่แบบธรรมดาได้ โดยร้อยละ 76.9 ได้รับข้อมูลที่บิดเบือนจากสื่อสังคมออนไลน์

​นอกจากนี้ข้อมูลการสำรวจยังพบอีกด้วยว่ามีผู้ประกอบการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยในสถานที่ต่าง ๆ หรือพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเด็กและเยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามพบว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 80.8 ตลาดนัดกลางคืน ร้อยละ 39.2 และเพื่อนหรือคนใกล้ชิดถึงร้อยละ 31.30 และมีเด็กและเยาวชนเพียงร้อยละ 16.8 เท่านั้นที่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ถูกกฎหมาย

นายพชรพรรษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการสำรวจครั้งนี้จึงเห็นได้ชัดว่า “เด็กและเยาวชน” ยังไม่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีผลการรับรองหรืองานวิจัยใด ๆ บนโลกใบนี้ชี้ชัดว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัย 100%” และช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายใด ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจยาสูบที่ทำร้ายสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย

ด้าน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายเป็นอย่างมากเพราะสามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ทุกกลุ่ม โดยอาศัยรูปลักษณ์ที่มีความทันสมัย และความเข้าใจผิดของเด็กว่าไม่มีโทษหรือไม่ก่อให้เกิดการเสพติดแบบบุหรี่มวนทั่ว ๆ ไป ซึ่งข้อเท็จจริงบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมหลักเป็นนิโคตินที่มีปริมาณมากกว่าบุหรี่แบบมวน ส่งผลทันทีต่อการทำงานของร่างกาย กระตุ้นหัวใจให้เต้นแรงขึ้น เกิดการเผาผลาญที่ผิดปกติ และนิโคตินยังมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์สมองอีกด้วย”

นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “สถานะทางกฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้าในขณะนี้ยังเป็นสินค้าที่มีความผิดตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้านั้น หรือทั้งจำทั้งปรับ” นอกจากนี้ยังมีคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 กำหนดห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าอันได้แก่ บารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า ตัวยาบารากู่ดั้งเดิม และน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่ไฟฟ้า ซึ่งหากผู้ใด ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งหากมีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ จะต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น