จากกรณีที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอนุญาตให้เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา สามารถใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ทุกวันอังคาร และเริ่มเป็นวันแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสความฮือฮาไปทั่ว โดยเฉพาะในสังคมสื่อออนไลน์ มีการเผยแพร่ภาพและเสียงของคนที่เกี่ยวข้องมากมาย มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แนวคิดนี้เริ่มจากคณะครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ให้เหตุผลว่าแนวปฏิบัตินี้ทำในลักษณะวิจัยทดลอง เพราะอยากให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียน และเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทันสมัยขึ้น เพราะโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย จึงอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยจะใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา เริ่มในวันอังคารที่ 8 มกราคมเป็นวันแรก โดยไม่บังคับ และหากพบว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนแล้วทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือได้รับผลกระทบต่อการเรียนหนังสือก็จะยกเลิกแนวคิดนี้ทันที
วันแรกของการเริ่มปฏิบัติการก็สร้างความคึกคักให้กับเด็กนักเรียนที่ใส่สารพัดชุดไปโรงเรียน ทั้งแบบปกติในชีวิตประจำวันมีทั้งเสื้อยืดกางเกงยีนส์ กางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบ ใส่สูท ชุดสุภาพ หรือชุดที่ครีเอทของแต่ละคน ก็สร้างรอยยิ้มและกลายเป็นข่าวคราวไปทั่ว
ความจริงประเด็นเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนได้ 1 วัน ใน 1 สัปดาห์ ก็มีอยู่ไม่น้อย มีบางโรงเรียนก็ทำอยู่ ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวคราวฮือฮาเหมือนกรณีเช่นนี้ ลูกดิฉันสมัยเรียนอยู่ระดับประถมศึกษาก็แต่งไปรเวทสัปดาห์ละ 1 ครั้งอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ได้มีสื่อมาจับจ้อง
นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักเรียนก็ได้มีการถกเถียงเป็นระลอกในสังคม ที่มีทั้งต้องการให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน และคนที่ไม่เห็นด้วย
เหตุผลของคนที่คิดว่านักเรียนควรใส่เครื่องแบบเท่านั้นมีหลายประการ เช่น เป็นการระบุว่า เป็นนักเรียนระดับชั้นใด โรงเรียนใด สร้างความเป็นเอกภาพให้นักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความฟุ่มเฟือยและสิ่งเร้าในทางแฟชั่น สั่งสมวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่ทำสืบต่อกันมา
ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้เครื่องแบบนั้นอ้างว่าการใส่เครื่องแบบ จะทำให้ผู้เรียนสนใจการเรียนมากกว่ามัวแต่สนใจชุดไปรเวท และเมื่อเรียนจบก็มีสถานที่ทำงานหลายแห่งมีเครื่องแบบขององค์กรหรือหน่วยงานที่บังคับใส่เครื่องแบบอยู่แล้ว ก็จะทำให้นักเรียนได้เตรียมตัวไปสู่การทำงานในอนาคต
ในบางประเทศเครื่องแบบนักเรียนอาจเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเบื้องต้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นการสั่งสมเยาวชนให้พร้อมต่อการเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในสังคม ประเทศอินเดีย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นในโรงเรียน และบางประเทศเชื่อว่าด้วยเครื่องแบบที่แสดงสถานภาพการเป็นนักเรียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง
ส่วนประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักเรียนนั้นให้เหตุผลว่า มันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของนักเรียน และการไม่สวมใส่ชุดนักเรียนก็ไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา เช่น ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากความเชื่อในอิสระเสรีภาพของคนในชาติเหนือสิ่งอื่นใด และยังมีอีกหลายประเทศที่เคยมีการบังคับใช้เครื่องแบบ แต่ยกเลิกการใช้เครื่องแบบไปในภายหลัง
กรณีของบ้านเราก็มีข้อถกเถียงเหล่านี้ทุกครั้งเมื่อมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมา เหมือนเช่นครั้งนี้ !
ในปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้กฎระเบียบการแต่งกาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนต่าง ๆ เอง
และเราก็ยังต้องเผชิญปัญหานี้ต่อไป เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังเป็นอย่างนี้ !
ประเด็นดังกล่าวดิฉันขอไม่พูดถึงเรื่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ตั้งเป็นข้อสังเกตดังนี้
ประการแรก - การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดในโรงเรียนยังคงเน้นที่ “เปลือก” มากกว่าเน้นที่แนวคิดทางการศึกษาของเด็กนักเรียน
กรณีที่โรงเรียนบอกว่าแนวคิดให้เด็กแต่งกายชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพราะอยากให้เด็กมีความสุขในการไปโรงเรียน คำถามก็คือมันใช่จริง ๆ หรือ แล้วที่ผ่านมาเด็กไม่มีความสุขในการไปโรงเรียนหรือ ประเด็นคือทำไมเราไม่สร้างแนวคิดเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อให้เด็กอยากมาโรงเรียนเพราะมาเรียนเป็นด้านหลัก ไม่ว่าจะแต่งกายอย่างไรที่เป็นด้านรอง
ประการที่สอง - แนวคิดนี้จำเป็นต้องประกาศจนกลายเป็น “สปอตไลท์” หรือไม่
เพราะเมื่อกลายเป็นสปอตไลท์ก็มีความเสี่ยงตามมาด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นที่ต้องการแสดงความเป็นตัวตน เมื่อกลายเป็นข่าว เป็นสปอตไลท์ของสังคม มีทีวีและสารพัดสื่อออนไลน์มาตั้งกล้องรอถ่าย แทนที่เด็กจะปฏิบัติตามแนวทางของโรงเรียนแบบเงียบ ๆ กลายเป็นถูกสังคมจับจ้อง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งเด็กที่ไม่อยากแต่งตัวให้โดดเด่น และมีทั้งที่อยากแต่งตัวให้แตกต่างแบบโดดเด่น และเด็กที่ต้องการแสดงตัวตนออกมาให้ชัดเจน ส่วนกรณีเรื่องจะควบคุมการแต่งตัวให้สุภาพ ก็เป็นเรื่องโรงเรียนก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ในการแต่งกายไปรเวทอยู่ดี เพราะความสุภาพของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันแถมเมื่อมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมใหม่ขึ้นมา ไปรเวทก็จะเริ่มไม่เป็นไปรเวท กลายเป็นเครื่องแบบในอีกรูปแบบหนึ่งไป
ประการต่อมา - สิ่งที่ตามมายังคงเป็นประเด็นน่าห่วงอยู่ ก็คือเรื่องการแต่งตัวที่อาจทำให้เด็กแต่งตัวแบบเกินความจำเป็น หรือแบรนด์เนม เพราะเป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งรับรู้ได้อยู่ว่าเป็นโรงเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองพร้อมอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ในความเป็นจริงสังคมไทยยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในแทบจะทุกเรื่อง ประกอบกับยังมีค่านิยมเรื่องการแต่งกายตามกระแส เราปฏิเสธเรื่องนี้ไปไม่ได้ เพราะขนาดโรงเรียนปกติที่ใส่เครื่องแบบก็มีการนำอุปกรณ์ประเภทนาฬิกา มือถือ ฯลฯ หรือมีของที่สามารถนำมาประชันกันอยู่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงรู้ซึ้งดีเมื่อเวลาลูกมาขอสิ่งของใดๆ ด้วยเหตุผลว่าก็เพื่อนๆ มีกันหมดเลย
ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็เคยผ่านการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนมากันแล้ว และก็ผ่านความเคร่งกับระเบียบวินัยแบบเข้มงวดมาแล้วเช่นกัน ไม่มีใครชอบ และไม่ต้องการเช่นนั้น จึงเข้าใจดีว่าการแต่งกายแบบอิสระย่อมทำให้เด็กๆ ชอบใจเป็นแน่แท้
แต่สิ่งที่ดิฉันอยากให้เน้นมากกว่าเรื่องเครื่องแต่งกาย คือแนวทางหรือนโยบายการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และสามารถทำให้เด็กค้นพบตัวตนว่าอยากเรียนอะไร เรียนอะไรได้ดี ถนัดอะไร และอยากทำอะไร
สรุปข้อสังเกต 3 ประการที่ดิฉันมองเห็นก็คือ นี่เป็นเพียงเปลือก การกลายเป็นกระแสทำให้เกิดการผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน และสุดท้ายคือความเหลื่อมล้ำที่ไม่อาจมองข้าม
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การให้นักเรียนแต่งไปรเวทสักสัปดาห์ละ 1 วันไม่น่าจะเกิดปัญหาใหญ่โตระดับคอขาดบาดตายแต่ประการใด
ทว่าเมื่อพ้นจากเรื่องเปลือกการแต่งตัวนี้ไปแล้ว เร่งค้นหาตัวตนของการศึกษาไทยที่ต้องปรับเปลี่ยนกันให้จริงๆ จังๆ เสียทีเถอะ