"ตาดีกา"เป็นสถาบันในชุมชนมุสลิม มีวัตถุประสงค์ปลูกฝังหลักการศาสนาเบื้องต้น ให้เด็กๆ เป็นมุสลิมที่ดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมถ้าเด็ก เยาวชนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจริยธรรม เมื่อเติบโต เป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นคนดีในชุมชนมีคนดี สังคมก็จะดี ปัญหาต่างๆก็แก้ไขได้ การพัฒนารูปแบบต่างๆก็จะตามมา บ้านเมืองเจริญ เศรษฐกิจดี ทุกคนก็อยู่อย่างเป็นสุข
คำว่า"ตาดีกา" (TADIKA) ศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเยาวชน มาจากภาษา RUMIหรือภาษามลายู TA=TAMAN แปลว่า สวน ศูนย์ หรือสวนสาธารณะ, DI=DIDIKKANแปลว่า สอน แนะนำ อบรม ชี้แจง สั่งสอน, KA=KANAK KANAK แปลว่า เด็กเล็กหรือเยาวชน
ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล นับถือศาสนาอิสลาม มีความเคร่งครัด เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา มีการควบคุมเตือนใจ ยึดหลักอัลกุรอานเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ศาสนาอิสลาม จึงกำหนดหน้าที่บิดามารดาอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้มีความรู้เรื่องของศาสนา ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ก็ต้องหาคนที่มีความรู้ มาสอนโรงเรียนตาดีกา จึงรับหน้าที่นี้ มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ ใช้พื้นที่มัสยิดเป็นศูนย์จัดตั้ง สร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์ สมัยก่อน โต๊ะอิหม่ามจะทำหน้าที่สอน หากเป็นหมู่บ้าน ก็จะเป็นหน้าที่ของหนุ่มสาวที่ไปเรียนศาสนามาจากโรงเรียนปอเนาะ
กระบวนการการเรียนการสอนเป็นเช่นนี้ ตาดีกาแต่ละแห่งจะเข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้กี่มากน้อย จึงขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนถ้าชุมชนมีโรงเรียนตาดีกาเข้มแข็ง แสดงถึงระเบียบวินัยของคนในชุมชน การมีส่วนร่วมของ คนในชุมชน และศักยภาพของผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา คณะกรรมการชุมชน ถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ บรรทัดฐาน เกิดกลุ่มที่ทำหน้าที่ควบคุมทางสังคม มีผลให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม และหลักการของศาสนา
เดิมโรงเรียนตาดีกาเป็นโรงเรียนนอกระบบ ภาครัฐไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยคนในชุมชน เป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเดิมทีแต่ละชุมชน ต่างฝ่ายต่างบริหาร ไม่มีการติดต่อประสานงาน หรือมีกิจกรรมร่วมกัน แต่ละชุมชนก็สอนกันไป ตามศักยภาพของแต่ละหมู่บ้าน คุณภาพการเรียนการสอนจึงต่างกัน
ด้านนักวิชาการอิสลามศึกษาเปิดเผยว่า โรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสถาบันการสอนวิชาศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานในพื้นที่ ยังมีปัญหาเรื่องการวางระบบการเรียนการสอนอยู่มาก ส่วนระบบการจัดเก็บข้อมูลก็ยังมีส่วนที่จำเป็นต้องลงไปช่วยเสริม เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะให้แก่ผู้สอนจากการสำรวจโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ พบว่า ผู้สอนส่วนมากไม่มีทักษะการวางแผนการสอน และยังขาดทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนของเยาวชน
ซึ่งหน่วยงานรัฐได้เล็งเห็นและมีการจัดอบรมหลักสูตรตาดีกาใหม่แก่ครูชายแดนใต้ให้ความสำคัญแก่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตคนดีสู่สังคมได้ดี โดยได้ประกาศใช้หลักสูตรใหม่ของตาดีกาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้เยาวชนได้เข้าใจง่าย และนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เน้นในเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งโจทย์เหล่านี้ เป็นงานสำคัญที่ผู้สอนทุกคนจะต้องร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างให้เยาวชนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด ได้รู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากเดิมเน้นเรื่องของอัลกุรอ่านและฮาดิษ สำหรับการสร้างครอบครัวอิสลาม และมีการสอนวิชามลายู ที่แยกออกเป็น 2 แบบ คือ ยาวี และรูมี และสอนภาษาอาหรับ สอนประวัติศาสตร์ศาสดา แต่หลักสูตรใหม่นั้น ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษามลายูเพื่อการสื่อสาร ภาษาอาหรับเพื่อการสื่อสาร มีค่ายภาคฤดูร้อน มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่มีสอนประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ปัตตานี มีแต่สอนประวัติศาสตร์ของศาสดา เพื่อให้เกิดเด็กดี ครอบครัวตักวา ประเทศมั่นคง อยู่บนโลกนี้อย่างสงบโลกหน้าสันติสุข และสำคัญผู้ปกครองนักเรียนจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนในตาดีกามากขึ้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างตาดีกากับผู้ปกครอง ต้องมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างตาดีกากับชุมชนด้วย