xs
xsm
sm
md
lg

โรคพาร์กินสัน รักษาช้า อาการยิ่งรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรคพาร์กินสัน หรือโรคที่คนไทยสมัยโบราณรู้จักกันในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่าโดพามีน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง เป็นสาเหตุให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้า และสูญเสียการทรงตัว

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดแต่หากได้รับการดูแลจากแพทย์จะช่วยชะลออาการของโรคได้ โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัย 70 ปีขึ้นไป จะพบได้บ่อยขึ้น โดยผู้ชายมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า ส่วนสาเหตุของโรคส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความชราภาพของสมอง อย่างไรก็ตาม อาจพบสาเหตุการเกิดโรคในบางกรณี เช่น ผู้ที่ใช้ยาทางจิต ยาลดความดันโลหิต ซึ่งตัวยาดังกล่าวขัดขวางการทำงานของสารโดพามีน การใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ๆ ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือถูกกระทบกระเทือน เช่น การต่อยมวย นอกจากนี้ อาจเกิดจากสมองอักเสบ เนื้องอกสมอง สมองขาดออกซิเจน หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดพามีนมีจำนวนน้อยหรือหมดไป และโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น

พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการของโรคพาร์กินสันโดยทั่วไป จะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ระยะเวลาของการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อน โดยลักษณะอาการจะค่อย ๆ ปรากฏแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทสั่งการซึ่งเป็นอาการหลักของโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเกิดอาการสั่นที่นิ้วมือ แล้วจึงตามด้วยข้อมือและแขน ในระยะแรกอาการสั่นจะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวก่อน แล้วต่อมาขาและเท้าอีกข้างจะเริ่มมีอาการสั่นตามมา และในที่สุดจะเกิดอาการสั่นทั่วร่างกาย

สำหรับการรักษามี 3 วิธี คือ 1. การรักษาด้วยยา จะเป็นการรักษาหลักในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรค 2. การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยทรงตัว และเคลื่อนไหวถูกต้อง 3. การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เช่น มีอาการสั่นรุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยา

โรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ภายใน 3-10 ปี ปัจจุบันมียาที่ใช้รักษา โรคนี้ที่ได้ผลดี จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปกติหรือช่วยชะลอความรุนแรงของโรคให้ลดลง แต่เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคได้ 100 % หากสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา เพื่อรับการรักษาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น