xs
xsm
sm
md
lg

อภ.ระดมทีมหาทางออก "สิทธิบัตร" ลั่นไม่ล้มโครงการน้ำมันกัญชา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานบอร์ด อภ.สั่งระดมทีมหาทางออก หากกรมทรัพย์สินฯ ไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา กระทบการวิจัยพัฒนา "น้ำมันกัญชา" หรือไม่ เหตุเดินหน้าลงทุนทั้งระยะสั้น และระดับกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว คาดปลูกได้ก่อนวันวาเลนไทน์ ค้านต่างชาติเข้าร่วมทุน เหตุจ้องฮุบอยู่แล้ว ยันไม่ล้มเลิกโครงการที่ทำ แต่ต้องชัดเจนปลูก ผลิตเท่าไร เพื่อตอบสนองความต้องการ

วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.... ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ว่า ภาพใหญ่ถือว่ามีประโยชน์ที่จะได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ย้ำว่า การคลายล็อกครั้งนี้ไม่ใช่เสรี ยังมีการควบคุมเช่นเดิม เพียงแต่เปิดทางให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยให้ข่าวว่า จะยกเลิกคำขอที่เข้าข่ายขัด พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แต่ไบโอไทยตรวจสอบพบว่า ไม่มีการยกเลิก จึงเกิดคำถามว่า ตกลงคืออะไรกันแน่ ขณะนี้ได้มอบให้ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. ระดมทีมนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรกัญชาของ อภ. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาหารือร่วมกันว่า เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่มีปัญหา จะส่งผลต่อการเดินหน้าพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ของ อภ.หรือไม่

"เราต้องหาข้อมูลเพื่อหาทางออกให้ได้ เพราะมองว่าขัดต่อกฎหมาย ที่ระบุว่าห้ามยื่นจดว่ารักษาโรคหรือสารที่มาจากธรรมชาติ และหากไม่ยกเลิกคำขอจะส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าของ อภ.หรือไม่ ตรงนี้ต้องชัดเจน เพราะบอร์ด อภ.มีมติเดินหน้าปลูกและทำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระยะสั้นด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ครั้งแรกก่อนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เพราะตามโรดแมปต้องผลิตน้ำมันกัญชาออกมาราว พ.ค. 2562 และยังต้องเดินหน้าทำระดับกึ่งอุตสาหกรรม จำนวน 130 ล้านบาทอกด้วย" นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาหุ้นร่วมกับภาครัฐได้ เพราะมองว่าต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่ผ่านมา อภ.ไม่เห็นด้วย ถ้าต่างชาติเข้ามาหุ้นก็จะมีผลประโยชน์ไปตลอด ซึ่งแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ต่างชาติเองจ้องจะเข้ามาในประเทศไทยอยู่แล้ว แม้แต่ อภ. ต่างชาติก็ต้องการเข้ามาเหมือนกัน มีเรื่องผลประโยชน์เยอะ อยู่ที่คนอนุญาตว่าจะเขียนกติกาอย่างไร แล้วกฎหมายก็ออกมาแบบนี้ ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติเลยสักคำขอเดียวหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมา อภ. สอบถามอะไรไปก็ไม่เคยตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอนาคตร่วมทุนต่างชาติ ทาง อภ.ต้องทบทวนการเดินหน้าสร้างโรงงานสกัดน้ำมันกัญชาหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า หากมีการเปิดร่วมทุนต่างชาติจริง ซึ่งมีเงินทุน มีเทคโนโลยีเข้ามา ต่างชาติจะได้เปรียบ เพราะเขาวิ่งไปก่อนหน้าไทยนานแล้ว ถ้าร่วมเอกชนก็จะไปได้ไว ขณะที่ อภ. จะเดินหน้าอะไรต้องเป็นไปตามระเบียบที่มีความล่าช้า กว่าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาสายพันธุ์ก็เสียเปรียบแล้ว แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นล้มเลิกโครงการที่ทำอยู่ แต่ต้องทบทวนเรื่องขนาดว่า จะทำแค่ไหน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในเมืองไทย หากดูแลคนครึ่งหนึ่ง ก็ลงทุนระดับหนึ่ง หากดูแลแค่ 10% ต้องทำขนาดไหน เรื่องนี้ลำบาก เพราะคนอื่นเขาวิ่งนำ แล้วเราวิ่งตาม เพราฉะนั้นจะลดขนาดจากแผนเดิมหรือไม่ ต้องไปศึกษาความต้องการ และความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่ต้องทำให้เร็วเป็นหลัก

ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ อภ. กล่าวว่า การที่ต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตรกัญชานั้นไม่สามารถทำได้ เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ส่วนเรื่องโรคที่จะมีการจดครอบคลุมเรื่องของมะเร็ง ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 9(4) อยู่แล้ว และหากปล่อยให่ต่างชาติจดสิทธิบัตร ไทยก็ไม่สามารถเดินหน้าทำอะไรได้ และโดยส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยากเย็นนักในการที่จะถอนการขอจดสิทธิบัตร ทั้งที่เห็นชัดในเรื่องขอกฎหมายแล้ว การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายิ่งล่าช้ายิ่งทำให้ผลการพัฒนายาให้ผู้ป่วยยิ่งล่าช้าและลำบาก


กำลังโหลดความคิดเห็น