ทปอ. ตั้ง กก. ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา ชี้ ปี 62 เป็นปีที่น่ากลัวของมหาวิทยาลัย เป็นจุดเผา เพราะเด็กลดลงไม่สนใจเรียนมหาวิทยาลัย เรียนออนไลน์ และรักอิสระมากขึ้น ดูจากยอดรับ TCAS62 ใน 92 สถาบัน รับได้กว่า 3.9 แสนคน ขณะที่ลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 3 แสนคน เท่ากับที่นั่งมากกว่าจำนวนเด็กถึง 2 เท่า ย้ำ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว วิชาเลือกมากขึ้น วิชาบังคับน้อยลง
วันนี้ (24 ธ.ค.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ. ได้หารือถึงประเด็นสถานการณ์ของอุดมศึกษาไทยในปี 2562 ซึ่งสรุปว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรจะมีการปรับตัว เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดน้อยลง โดยดูได้จากการรับสมัครผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 หรือ TCAS 2561 ที่เปิดรับสมัคร 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควตา รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 แอดมิชชัน และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ มีจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนน้อยกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยเปิดรับ
อีกทั้งผลการเปิดรับสมัครลงทะเบียน ของทีแคส 2562 พบว่า มีผู้มาลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 300,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นจำนวนที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก และ ทปอ. ได้รวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา องค์ประกอบ เกณฑ์ และจำนวนรับนิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั้ง 92 แห่ง พบว่า ปีการศึกษา 2562 มีจำนวนรับรวมกัน 390,120 คน ดังนั้น ทปอ. การันตีได้เลยว่าจำนวนที่นั่ง ที่มหาวิทยาลัยเปิดรับมีมากกว่าจำนวนนักเรียน 2 เท่าแน่นอน
“ปี 2562 จะเป็นปีที่น่ากลัวมากสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เมื่อก่อนเราไม่ทราบถึงปัญหานี้ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเปิดรับนักศึกษาเอง เมื่อมีระบบ TCAS 2561 ขึ้นมา ทำให้ ทปอ. ทราบปัญหานี้ทันที และในปีหน้าคิดว่า มหาวิทยาลัยมาถึงจุดเผาแล้ว คือ เด็กมีจำนวนน้อยลง เด็กไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กมีความรักอิสระมากขึ้น ดังนั้น ทปอ. จึงมีมติตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา (University Learning Reform Committee) โดยมี นายศักรินทร์ ภูมิรัตน รองประธาน ทปอ. เป็นประธาน ซึ่ง ทปอ. จะเข้าไปลงทุนทั้งกำลังคน กำลังเงิน ในการปฏิรูปเรื่องการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพราะการปฏิรูปครั้งนี้หากมหาวิทยาลัยไปทำกันเอง จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมาก ทปอ. จึงเข้ามาช่วยเป็นศูนย์กลางในการปฏิรูปให้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เช่น วิชาเลือกต้องมีมากขึ้น และ มีวิชาบังคับน้อยลง หรือการปรับหลักสูตรบางหลักสูตรที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีความยืดหยุ่น หรือ อาจจะเปิดให้นักศึกษาที่เรียนจบมาแล้วมีความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ จบมามีปริญญา 2-3 ใบ อาจจะจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนได้มากขึ้น เป็นต้น