แพทย์ฯ เผยความก้าวหน้า “ภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง” เน้นสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสู้โรคมะเร็งได้ ปัจจุบัน อย.ไทยขึ้นทะเบียนยาแล้ว 4 ชนิด มีประสิทธิภาพรักษาได้ครอบคลุมโรคมะเร็งมากกว่า 8 ชนิด ผลข้างเคียงแตกต่างจากยาเคมีบำบัด โดยส่วนใหญ่ที่พบคือ อาการผื่นคัน เป็นไข้ พร้อมแนะปฏิบัติตนด้วยหลัก 6 อ.ห่างไกลมะเร็ง
รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ผู้ก่อตั้งหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Cancer Immunotherapy) ว่า โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทยอีกด้วย โดยในช่วง 10 ปีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับหนึ่ง ที่ผ่านมาวงการแพทย์ได้คิดค้นวิธีการรักษามะเร็งแนวใหม่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง หรือ Immuno-Oncology (IO)” ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 สมัชชาโนเบลที่สถาบันแคโรลินสกา (The Nobel Assembly at Karolinska Institutet) ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) ให้แก่ เจมส์ พี อัลลิสัน (James P. Allison) จากศูนย์มะเร็งเอ็มดีแอนเดอร์สันมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas MD Anderson Cancer Center) สหรัฐอเมริกา และ ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) จากมหาวิทยาลัยเกียวโต (University of Kyoto) ประเทศญี่ปุ่น ในการค้นพบวิธีบำบัดมะเร็งโดยการยับยั้งกลไกที่กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นความก้าวหน้าและเป็นนวัตกรรมยารักษาโรคมะเร็ง
รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งมีทั้งสิ้น 7 ตัว และใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่น ๆ กว่า 50 ประเทศ รวมถึงประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย ฯลฯ ส่วนประเทศไทยได้รับอนุมัติทะเบียยาโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Ipilimumab, Pembrolizumab, Nivolumab และ Atezolizumab จากการค้นพบว่าเซลล์มะเร็งสามารถหลบเลี่ยงการทำลายจากภูมิคุ้มกันร่างกายโดยสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า PD-L1 มายับยั้งการทำงานของเซลล์พิฆาตมะเร็ง (Cytotoxic T Cell) และด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์จึงได้มีการค้นพบยาเพื่อมายับยั้งกลไกดังกล่าว โดยหนึ่งในกลไกของยาในกลุ่มนี้คือทำให้โปรตีน PD-L1 ไม่สามารถยับยั้งเซลล์พิฆาตมะเร็งได้ ส่งผลให้เซลล์พิฆาตมะเร็งทำลายมะเร็งได้ดีขึ้น ส่วนการใช้ยาจะฉีดทุก 2-3 สัปดาห์
โดยขณะนี้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มากกว่า 8 ชนิด ประกอบด้วย มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งปอด, มะเร็งศีรษะและลำคอ, มะเร็งไต, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน , มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งเซลล์ตับ, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งที่ตรวจพบ MSI สูง
ทั้งนี้ การนำยาเหล่านี้มาใช้กับผู้ป่วยได้ผ่านกระบวนการวิจัยและทดลองรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง ประมาณ 5-10 ปี ซึ่งพบว่าให้ผลตอบสนองต่อยาโดยประมาณร้อยละ 20 – 65 และลดอัตราการเสียชีวิตโดยประมาณร้อยละ 26-58 ขณะที่บางคนมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งได้ด้วย ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งที่พบส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนัง มีผื่นขึ้น เป็นไข้ หรือบางรายประมาณ ร้อยละ 3-5 มีอาการปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ในการรักษาผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาได้ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด โดยแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำว่าการรักษาแบบใดเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งกรณีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาและผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาประเภทอื่นแต่จะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลใกล้ชิด
“เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมายาที่ดีที่สุดในการรักษาโรคมะเร็ง คือ ยาพุ่งเป้า ที่ยับยั้งแค่เพียงเป้าหมายเดียวแต่ปัญหาคือมะเร็งมีการกลายพันธุ์ การยับยั้งแค่จุดเดียวไม่สามารถสกัดในจุดอื่นได้ แต่ถ้าเป็นการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์รักษาคนไม่ใช่รักษามะเร็ง ออกฤทธิ์ไม่จำกัดเป้าหมาย เน้นการสร้างให้คนไข้มีภูมิคุ้มกันไปสู้กับมะเร็งได้ เพราะการมีภูมิคุ้มกันที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งหากดูผลในช่วง 3 ปีที่ไทยมีการใช้ยาในกลุ่มนี้และจากที่ผมได้ทำการศึกษาวิจัยโดยสอบถามคนไข้ว่า หากเป็นมะเร็งแล้วคิดว่าการรักษาใดจะเป็นประโยชน์มากที่สุด พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 80 เลือกภูมิคุ้มกันบำบัด เพราะคนไข้เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยเขาได้ อันดับ 2 เลือกรักษาด้วยยาพุ่งเป้า แต่ที่คนไข้ไม่ชอบที่สุด คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายแสง”รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว
รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า สำคัญที่สุดอยากฝากก็คือ ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง จะต้องทำการรักษาตั้งแต่ต้นเพราะมีโอกาสการรักษาจะหายได้ แต่หากไม่รักษาสุดท้ายภูมิคุ้มกันในร่างกายจะถูกทำลาย และควรมีการตรวจสุขภาพตามมาตรฐานที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน ทุกคนสามารถปฏิบัติตนให้ห่างไกลโรคมะเร็งได้โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ หลัก 6 อ. ได้แก่ 1.อาหาร ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน งดการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ 2.อากาศ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศไม่ถ่ายเท หรือมีมลภาวะ 3.เอนกาย พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 4.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส 5. อุจจาระ ขับถ่ายให้เป็นเวลา และ 6.ออกกำลังกายสม่ำสมอ .