xs
xsm
sm
md
lg

"หมอมะเร็ง" ไม่ขอใช้ "น้ำมันกัญชา" ลดผลข้างเคียงคีโม เหตุข้อมูลยังน้อย ปรับสูตรยายาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอมะเร็ง ย้ำ "กัญชา" ไม่ช่วยรักษามะเร็ง ส่วนการลดเจ็บปวด ผลข้างเคียงจากเคมีบพบัด ไม่ต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ ชี้หากปลดลฌอกให้ใช้ทางการแพทย์ ก็ไม่ขอใช้ "น้ำมันกัญชา" เหตุยังไม่มีการศึกษามากพอต้องใช้มากน้อยเท่าไร ปรับสูตรยาดูแลคนไข้ยาก

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซอยศูนย์วิจัย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว "แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งและบทบาทของกัญชากับมะเร็ง" โดย รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนออกมาสนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ และไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการสื่อสารออกไปผิดๆ ว่า กัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งในฐานะหมอมะเร็งยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีการศึกษาใดที่ใช้กัญชารักษามะเร็งในมนุษย์แล้วประสบความสำเร็จ ที่มีการวิจัยอยู่ว่าสารจากกัญชาฆ่าเซลล์มะเร็งได้นั้น ก็แค่การทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเลี้ยงยาก สารอะไรก็มีโอกาสสูงที่กำจัดเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ไม่ใช่ทุกสารที่ได้ผลในหลอดทดลอง แล้วเอามาใช้ในมนุษย์จะปลอดภัย

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ากัญชาไม่มีประโยชน์อะไร กัญชายังมีประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างเรื่องของการรักษาโรคลมชักต่างๆ ที่มีผลชัดเจน ซึ่งหากอนาคตมีการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีข้อแนะนำให้ใช้ใน 4 กลุ่มโรค ซึ่งในนั้นมีเรื่องของการลดอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ส่วนตัวคงยังไม่นำน้ำมันกัญชามาใช้ เนื่องจากประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ แต่กัญชาหากใช้ในปริมาณมากยังมีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงจากกัญชาได้ หรือเลิกใช้แล้วมีอาการอยากยา นอกจากนี้ ยังไม่มีความคุ้นเคยว่าจะต้องใช้ปริมาณมากน้อยเท่าใด ให้ผลลัพธ์อย่างไร ก็ยังไม่มีการศึกษา เพราะหากเป็นยาแผนปัจจุบันเรามีความรู้อยู่แล้วว่าต้องปรับสูตรอย่างไรให้เหมาะสมกับอาการ

"ส่วนเรื่องของบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง ในปี 2015 มีงานวิจันพบว่า ช่วยควบคุมความเจ็บปวดได้ไม่ต่างกับการรักษาที่ไม่ใช้กัญชา แต่กัญชายังเกิดผลข้างเคียงมากกว่า ขณะที่การศีกษาปี 2006 วิจัยเอากัญชาและสาร THC มาใช้เพื่อกระตุ้นความเจริญอาหาร เปรียบเทียบกับกลุ้มที่ไม่ได้รับกัญชา พบว่า กัญชาไม่สามารถเพิ่มความเจริญอาหารมากกว่ากลุ่มที่ไม่รับกัญชา" รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวและว่า เรื่องการแก้กฎหมายเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นควรเป็นลักษณะการคลายล็อก ใช้และควบคุมโดยองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เหมือนมอร์ฟีน แต่คำถามคือ การเปิดให้ใช้กว้างมากๆ จะมีการควบคุมอย่างไร

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาคือตอนนี้มีการพูดถึงกันมาก แล้วทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปหามาใช้ ซึ่งตนมีคนไข้หลายคนที่ญาติต้องหามมาพบแพทย์ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว เพราะใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินหยดโดยไม่มีความรู้ว่า ต้องใช้ปริมาณเท่าไร บางคนบอกว่าใช้เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ตนไม่แน่ใจว่าแบบนี้เป็นการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ เพราะพอใช้แล้วก็ทำให้นอนหลับ เมื่อหลับก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ไม่มีโอกาสได้นอนหลับไม่รู้สึกตัว บางรายขนาดลูกวัย 3 ขวบขึ้นไปบนตัวยังไม่รู้สึกตัว ไม่ได้กอด ไม่ได้เล่นด้วย ครอบครัวก็กังวลว่าเป็นอะไรหรือไม่ ที่สำคัญก้อนมะเร็งไม่ยุบ ไม่หาย แต่พอได้รับการรักษามาตรฐานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ ไม่ต้องหลับๆ ตื่นๆ เพราะฤทธิ์กัญชา



กำลังโหลดความคิดเห็น