xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาฯ รับแช่แข็ง “เนื้อเยื่อรังไข่” ผู้ป่วยมะเร็ง พร้อมปลูกถ่ายให้ใหม่หลังรักษาหาย หลบผลคีโมทำไข่พังจนชวดมีลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รพ.จุฬาฯ เปิดรับแช่แข็ง “เนื้อเยื่อรังไข่” ช่วยผู้ป่วยมะเร็งต้องรับยาเคมีบำบัด ให้มีลูกได้ เหตุยาทำลายเซลล์ไข่จนพัง เริ่มให้บริการแล้ว 1 เดือน มีผู้ป่วยมะเร็งฝาก 6 คน หลังรักษาเสร็จปลูกถ่ายกลับไปได้ ชี้ ควรอยู่ในสิทธิประโยชน์แบบต่างชาติ ช่วยวางแผนครอบครัว คนไม่พร้อมมีลูก ให้มีลูกคุณภาพในอนาคต

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อาจารย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ควรนำมาใช้อย่างเหมาะสมและจำเป็น อย่างเรื่องการวางแผนครอบครัว ไม่จำเป็นต้องเป็นการคุมกำเนิดเท่านั้น แต่ควรรวมเรื่องของการช่วยผู้มีบุตรยากด้วย รวมถึงคนที่คุณสมบัติในการมีลูกครบถ้วน แต่ยังไม่พร้อมมีบุตร เพื่อให้สามารถมีบุตรภายหลังได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การฝากไข่ การฝากเนื้อเยื่อรังไข่ เป็นต้น เพราะปัจจุบันคนอาจจะยังไม่พร้อม จากการทำงานเพื่อสร้างตัวก่อน ซึ่งหากมีลูกภายหลังก็จะพบกับปัญหาไข่แก่ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของบุตรทางพันธุกรรมได้ อย่าง เฟซบุ๊ก แอปเปิล บริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ของโลกยังสนับสนุนให้พนักงานหญิงฝากไข่ไว้ก่อน เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่จนมีความพร้อม เป็นต้น

รศ.นพ.กำธร กล่าวว่า นอกจากนี้ ต่างประเทศยังนำมาใช้กับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่เมื่อได้รับยาเคมีบำบัด จนส่งผลให้ไข่พัง บางประเทศมีการให้ข้อมูลผู้ป่วยก่อนด้วยซ้ำว่า หากรับยาไปจะส่งผลต่อการมีบุตร เพื่อเป็นทางเลือกว่าจะฝากไข่ก่อนหรือไม่ จนกว่าจะรักษาหาย ซึ่งมะเร็งอย่างมะเร็งเกี่ยวกับโลหิตก็รักษาหายได้ แต่มักพบว่ารักษาแล้วไม่สามารถมีบุตรได้ เพราะผลกระทบจากยา

“หลายประเทศบรรจุลงไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเผชิญปัญหาวิกฤตประชากร ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก มีปัญหาเด็กเกิดน้อย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพราะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ส่วนไทยยังไม่อยู่ในระบบ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าการเพิ่มประชากร (Total Fertilyty Rate) ไม่ควรต่ำกว่า 2.1 แต่ประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 1.5 ทำให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้” รศ.นพ.กำธร กล่าวและว่า หากวันนี้ไม่ทำอะไรเราจะมีปัญหาผู้สูงอายุล้นเมือง เด็กเกิดน้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ และเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะตอนนี้อัตราการเกิดของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปกติอยู่

รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การเก็บเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง (Ovarian tissue cryopreservation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งและต้องการมีบุตร ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะในประเทศยุโรปจัดเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานใช้มากว่า 10 ปีแล้ว ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 100 กว่าคนที่เข้าถึง แต่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ ประมาณ 1-2 ปี ซึ่งในส่วนของ รพ.จุฬาฯ เปิดตัวเรื่องนี้มาเพียง 1 เดือน มีผู้ป่วยมะเร็งที่เหมาะสมในการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ประมาณ 6 คน

รศ.นพ.วิสันต์ กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นความหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร เนื่องจากการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดจะไปทำลายเซลล์ในรังไข่จนไม่สามารถมีลูกได้ แต่เทคโนโลยีจะมาช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความหวัง โดยกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถเข้าเกณฑ์จะมีการพิจารณาเป็นรายๆ และต้องไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ เนื่องจากกลุ่มนี้เซลล์มะเร็งกระจายไปในรังไข่แล้ว ค่อนข้างลำบากในการใช้เทคโนโลยีนี้ แต่ผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ อาทิ มะเร็งเต้านม หลายรายสามารถรักษาให้หายขาดได้ กลุ่มนี้มีความหวังที่จะมีบุตรได้

“กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร และผ่านขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นผู้เหมาะสมใช้เทคโนโลยีนี้จะตัดเนื้อเยื่อ หรือตัดปีกมดลูก 1 ข้างออกมาแช่แข็ง ส่วนใหญ่แช่แข็งได้ประมาณ 5 ปี ขึ้นอยู่กับการรักษามะเร็ง เนื่องจากหลายราย 5 ปี ก็สามารถรักษาหายขาดได้ สำหรับค่าใช้จ่ายการเก็บเนื้อเยื่อรังไข่ประมาณ 3 หมื่นบาท ไม่รวมค่าหัตถการอื่นๆ อีกประมาณ 2-3 หมื่นบาท และเก็บรักษารายปีประมาณปีละ 500 บาท ส่วนจะเก็บกี่ปีอยู่ที่อาการของผู้ป่วย” รศ.นพ.วิสันต์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น