xs
xsm
sm
md
lg

“กรมเด็กฯ-สสส.-ภาคีเครือข่าย” จัดเวทีทำความเข้าใจสื่อมวลชน “ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเด็กฯ จับมือ สสส. -ภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาทำความเข้าใจสื่อมวลชน ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก วอนระมัดระวังการนำเสนอข่าว อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก

วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ในเวทีเสวนา “สื่อ” ข่าวเด็กอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ จัดโดย คณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลเรื่องเนื้อหาความเหมาะสม และอายุขั้นต่ำของแหล่งข่าวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ที่ผ่านมากรมกิจการเด็กและเยาวชนฯ ร่วมกับหลายภาคส่วน จัดให้มีกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยได้เสนอร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรี จนมีมติเห็นชอบและบังคับใช้ ด้วยการให้สื่อตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเองบนอินเทอร์เน็ต และเผยแพร่วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าวแก่เด็ก เยาวชน และผู้ที่ทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะการเผยแพร่และรณรงค์ให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนมาตรการสร้างกลไกการติดตามสื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิตสื่อและประชาชนทั่วไป

“กรมได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักและเชื่อมกับองค์กร เครือข่าย ซึ่งดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงขอฝากเรื่องการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนว่าจำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ละเลยต่อการปกป้องคุ้มครองเด็กตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สูงสุด 3 รูปแบบ คือ การทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก การไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก และการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่ทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์” นายอนุกูล กล่าว

นายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงกรณีศึกษาสิทธิเด็กที่ไม่ควรถูกละเมิดกับความตระหนักร่วมของสังคมไทยว่า ปัจจุบันการรายงานข่าวเด็ก ทางเว็บไซต์หรือโซเชียลต่างๆ ของสื่อมวลชนหลายสำนัก มีการละเมิดสิทธิเด็ก ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเมื่อปี 2532 ประเทศไทยมีการลงอนุสัญญาว่าด้วยเด็กและได้ทำสัตยาบันออกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 และ 27 พ.ร.บ. ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 9 หรือ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 130

“การเปิดเผยข้อมูลเด็กหรือผู้ปกครองผ่านสื่อมวลชน ทำให้โอกาสกลับคืนสู่สังคมของเด็กลดน้อยลง เช่น เด็กที่มีคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ต้องตกอยู่ในอันตราย แม้จะมีความพยายามปิดบังอำพรางใบหน้า แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ข้อมูลเด็กและครอบครัวถูกเปิดเผย การที่เส้นเสียงของเด็กในขณะถูกสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านช่องทางต่างๆ ซ้ำๆ ย่อมมีโอกาสที่เด็กจะถูกจดจำ เป็นการเปิดเผยตัวตนของเด็กในทางอ้อม" นายเตชาติ์ กล่าว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั่วโลกและยูเอ็นได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองเด็กด้วยการออกกฎบัตรสหประชาชาติ เด็กต้องได้รับความคุ้มครอง ประกอบด้วย 3P ได้แก่ Protection การปกป้องคุ้มครองเด็ก Prevention การป้องกันไม่ให้เด็กถูกละเมิด Promotion เด็กต้องได้รับการพัฒนา ให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

"ในการนำเสนอข่าวของเด็กหรือให้เด็กมาพูดในเรื่องเดิมๆ เป็นการข่มขืนเด็กซ้ำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีผลต่อทั้งด้านอีคิวและไอคิว และอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ จนถึงขั้นมีอาการทางจิต ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ฝันร้ายซ้ำ บางรายถึงขั้นซึมเศร้า และในเด็กที่โตอาจนำมาสู่การฆ่าตัวตายได้" ศ.นพ.รณชัย กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น