xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์สุ่มตรวจ “เครื่องสำอาง” เจอสีห้ามใช้ เสี่ยงก่อมะเร็ง ระคายเคือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมวิทย์สุ่มตรวจเครื่องสำอางย่าน กทม. นนทบุรี พบสีห้ามใช้ใน เป็นสารก่อมะเร็ง ทำระคายเคือง แนะผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากระบุชัดเจน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องสำอางตกแต่งใบหน้าจะมีสีเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อให้มีความสวยงามและความหลากหลาย เช่น ลิปสติก อายแชโดว์ บลัชออน ผลิตภัณฑ์เขียนขอบปาก/เขียนขอบตา/เขียนคิ้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง กำหนดให้สี CI 12075, CI 13065, CI 15585 และ CI 45170 ห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง และยังเป็นสีที่คณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิด เนื่องจากพบว่า สีห้ามใช้ CI 12075 กับสี CI 15585 และ CI 45170 เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง ส่วนสี CI 12055 และ CI 13065 อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบนผิวหนังที่สัมผัส อย่างไรก็ตาม สีเหล่านี้เป็นสียอดนิยมโดย CI 15585 จะให้โทนสีแดง สี CI 45170 จะให้โทนสีชมพู

นพ.โอภาส กล่าวง่า ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2561 สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้าจากร้านค้าปลีก-ส่ง ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และนนทบุรี เพื่อตรวจเอกลักษณ์สีห้ามใช้ 50 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากครบถ้วน 22 ตัวอย่าง และฉลากไม่ครบถ้วน 28 ตัวอย่าง แบ่งเป็นดินสอเขียนคิ้ว 5 ตัวอย่าง อายแชโดว์ 5 ตัวอย่าง บลัชออน 11 ตัวอย่าง และลิปสติก 29 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ พบสีห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตกแต่งใบหน้า 22 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 44 โดยพบในอายแชโดว์ 1 ตัวอย่าง บลัชออน 4 ตัวอย่าง และลิปสติก 17 ตัวอย่าง ทั้งนี้ พบเครื่องสำอางที่ผสมสีห้ามใช้ CI 12055 จำนวน 1 ตัวอย่าง CI 15585 จำนวน 6 ตัวอย่าง และ CI 45170 จำนวน 13 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์ที่มีทั้ง CI 15585 และ CI 45170 จำนวน 2 ตัวอย่าง ส่วนสีห้ามใช้ CI 12075 และ CI 13065 ตรวจไม่พบในทุกตัวอย่าง

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้าให้ปลอดภัยไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีฉูดฉาดเกินไป หรือมองหาส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ เช่น ขี้ผึ้ง Candelilla Wax, Carnauba wax, น้ำมันอะโวคาโด หรือน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากระบุรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน ซึ่งสามารถติดตามดำเนินการต่อผู้เกี่ยวข้องได้ หากเกิดผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ลิปสติก จะหมดอายุภายใน 2 ปี แต่หากมีการเปิดใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว จะมีอายุการใช้งานได้นาน 1 ปี นับจากวันที่ผลิต





กำลังโหลดความคิดเห็น