xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมความพร้อมโภชนาการลูกน้อยวัยขวบปีแรก พื้นฐานสู่ผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทย์แนะการเตรียมความพร้อมด้านโภชนาการสำหรับลูกน้อยวัยขวบปีแรก เพื่อสุขภาพแข็งแรงและพัฒนาการสมวัย พื้นฐานสำคัญสู่ผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต

ช่วงวัยขวบปีแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการสร้างพื้นฐานการเจริญเติบโตของลูกน้อยในระยะยาว เนื่องจากระบบต่างๆ ในร่างกายของเด็กวัยนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบย่อยอาหาร อีกทั้งระบบเผาผลาญอาหารและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ยังไม่สมบูรณ์ การได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่พอเหมาะ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของร่างกาย ซึ่งหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก คือ โปรตีน การได้รับโปรตีนคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบต่างๆ รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อาทิ โรคอ้วนในเด็กได้ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยและสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

รศ. นพ. สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของโภชนาการในช่วงเริ่มแรกของชีวิตลูกน้อยว่า “ช่วงอายุขวบปีแรก เป็นช่วงวัยที่ระบบต่างๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่และมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โภชนาการในช่วงเวลานี้จึงมีผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ การเผาผลาญอาหาร และสุขภาพของเด็กในอนาคต โปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญอย่างยิ่งที่เด็กควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกล้ามเนื้อ อวัยวะ เอนไซม์ ฮอร์โมน และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นการที่เด็กวัยนี้ได้รับโปรตีนคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมระบบการย่อยและการเผาผลาญอาหารที่ดี และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและพัฒนาการสมวัย”

ผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน ด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว สำหรับอายุ 6 เดือน - 2 ปี สนับสนุนให้รับประทานอาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่ นมแม่เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้ เพราะอ่อนโยนต่อระบบต่างๆ ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ คุณภาพของโปรตีนในนมแม่ต่างจากนมวัว เพราะนมแม่มีเวย์โปรตีนสูงกว่าเคซีน ซึ่งเวย์โปรตีนเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย สามารถเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารได้ไวกว่า ถูกย่อยเป็นเปปไทด์สายสั้นและกรดอะมิโน ทำให้ง่ายต่อการดูดซึม และในงานวิจัยใหม่ๆ ยังพบว่าในนมแม่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน เช่น ทริปซิน เหมาะกับกระเพาะอาหารของเด็กที่ยังสร้างน้ำย่อยได้น้อยและมีการทำงานของเอนไซม์ต่ำ อ่อนโยนต่อระบบการย่อยอาหารของเด็กที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่

งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า นมแม่มีโปรตีนในระดับที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและระบบเผาผลาญอาหารของช่วงวัยนี้ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ การได้รับโปรตีนมากเกินไป จะทำให้ไตต้องทำงานหนัก และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในอนาคต แต่หากได้รับโปรตีนน้อยเกินไป ก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

นอกจากนี้ นมแม่ยังมีประโยชน์และอ่อนโยนต่อระบบภูมิคุ้มกัน เพราะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น ตระกูลบิฟิโดแบคทีเรียม B.longum (บี.ลองกัม) และ B.Lactis (บี.แล็กทิส) ซึ่งทั้งสองตัวนี้พบได้มากในนมแม่ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ของลูกน้อยซึ่งมีจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ยังไม่มากนัก โดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จะจับจองพื้นที่บริเวณผนังลำไส้ ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเกาะผนังลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยเพิ่มความสามารถของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นอีกด้วย

กล่าวได้ว่า เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง จำเป็นต้องส่งเสริมด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถพบได้ในนมแม่ อันอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม ทั้งเวย์โปรตีนสูง และโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน อ่อนโยนต่อระบบย่อยอาหารของลูกน้อยที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และยังมีปริมาณโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เป็นมิตรต่อระบบเผาผลาญอาหาร นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในเด็กที่ยังไม่สมบูรณ์

การที่เด็กจะมีพัฒนาการสมวัยไม่ใช่เรื่องยาก เพียงคุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตการเจริญเติบโตของลูกน้อย โดยสังเกตได้ง่ายๆ จากน้ำหนัก หากน้ำหนักมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กควรได้รับการใส่ใจด้านโภชนาการเป็นพิเศษว่ามีอะไรเกินหรือขาดไป ยิ่งไปกว่านั้น การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอาจมีผลกระทบกับสมองของลูกได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพัฒนาการ ทักษะของลูกน้อยในช่วงวัยนั้นๆ อย่างเช่น เด็กในวัย 1 ปี จะเริ่มรับรู้ สามารถเข้าใจคำพูดง่ายๆ รู้จักชื่อตนเอง เริ่มหันตามเสียง เลียนเสียงหรือพูดตามได้บางคำ และส่งเสียงโต้ตอบได้บ้าง หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ก็ต้องพิจารณาหาสาเหตุ สังเกตเป็นพิเศษว่าลูกน้อยขาดสารอาหารใดหรือไม่ หรือควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ การเรียนรู้ในด้านไหน อย่างไร โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กได้หากจำเป็น

“การสร้างพื้นฐานการเจริญเติบโตให้แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับเด็กในช่วงวัยขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นใส่ใจส่งเสริมด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้ และหมั่นสังเกตการเจริญเติบโตและพัฒนาการอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกน้อยเจริญเติบโตตามเกณฑ์ มีพัฒนาการสมวัย ทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้ ช่วยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต” รศ.นพ.สังคม กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น