xs
xsm
sm
md
lg

เด็กถูกข่มขู่คุกคามในโรงเรียน ปัญหาที่ผู้ปกครองต้องไม่ละเลย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้เขียนจำได้ว่าเพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าหลังเลิกเรียนขณะเดินไปขึ้นรถกลับบ้าน มีเด็กผู้ชายชั้นโตกว่าสองคนยืนขวางทางและพูดด้วยน้ำเสียงเชิงข่มขู่ว่า “ขอเงินหน่อย” ระหว่างที่ยืนตกใจอยู่นั้น คุณแม่เดินตามมาถึงพอดีจึงสอบถามว่ามีอะไรกันหรือ เด็กผู้ชายทำทีขอดูสมุดวาดภาพแล้วเดินจากไป

การถูกข่มขู่คุกคามของเด็กโดยเฉพาะในโรงเรียนนั้นมักเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ในปัจุบันเราพบข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยครั้งขึ้นจนน่าตกใจ สอดคล้องกับงานวิจัยหลายฉบับที่สรุปว่าเด็กมากกว่าครึ่งหนึ่งในทุกช่วงอายุเกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามในโรงเรียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้มีส่วนรู้เห็น หรือแม้แต่เป็นผู้กระทำเสียเอง

การข่มขู่คุกคามต่อเด็กในโรงเรียนมักพุ่งเป้าไปที่เด็กที่มีบุคลิกลักษณะอ่อนแอ ขาดความมั่นใจในตนเอง เก็บตัว หรือเด็กที่มีความแตกต่าง เช่น รูปร่าง สีผิว ภูมิลำเนา หรือฐานะทางครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นที่ตัวผู้กระทำเองที่มีปมด้อยบางอย่างและทำไปเพื่อปกปิดหรือชดเชยปมนั้น เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นหรือกลุ่มเพื่อนยอมรับตนเองมากขึ้น ซึ่งการข่มขู่คุกคามมีหลากหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยในโรงเรียน คือ

1.การจงใจพูดล้อเลียนถึงบุคลิกภาพ ความแตกต่าง หรือความผิดพลาดในอดีต ซึ่งเป็นไปทั้งเพื่อความสนุกขำขันหรือทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเสียใจ

2.การกระจายข้อมูลข่าวสารในทางลบ ที่ส่งต่อทั้งทางคำพูดหรือสื่อสังคมออนไลน์โดยมีเจตนาทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย หรือตั้งใจตัดออกจากกลุ่มเพื่อน

3.การพูดจาและแสดงท่าทางข่มขู่เพื่อเรียกทรัพย์สิน หรือบังคับให้ยินยอมกระทำตามที่ถูกเรียกร้อง

4.การเล่นหยอกล้อเกินควร เช่น การซ่อนหรือทำลายสิ่งของ การเล่นกระชากผมหรือตัดผมของเด็กผู้หญิง ซึ่งทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเสียใจและวิตกกังวล

5.ทำให้บาดเจ็บด้วยการทำร้ายร่างกายหรือแม้กระทั่งล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อแสดงอำนาจเหนือกว่าผู้ปกครองพึงตระหนักว่าไม่ว่าการข่มขู่คุกคามจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดหรือมีความรุนแรงเพียงใด เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเกิดเป็นบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจที่มีต่อเด็กที่ถูกกระทำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาวะความเครียดและกดดัน ความกลัวและเศร้าเสียใจ เก็บตัวและไม่ต้องการไปโรงเรียน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลทางลบต่อบุคลิกภาพและการยอมรับคุณค่าในตนเอง ตลอดจนการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต

แม้จะวางใจว่าโรงเรียนมีมาตรการป้องกันที่ดีและคุณครูได้ทำหน้าที่ดูแลบุตรหลานของเราอย่างใกล้ชิดแล้วก็ตาม แต่อาจไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขเหตุการณ์ได้ทันท่วงทีทุกครั้งไป ดังนั้น ผู้ปกครองจำเป็นต้องไม่ละเลยที่จะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

1.การหมั่นสังเกต – ปกติแล้วเด็กที่ถูกข่มขู่คุกคามจะพยายามเก็บเรื่องไว้ไม่บอกใคร อาจมีสาเหตุมาจากเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอาย มีความรู้สึกกลัวว่าผู้ปกครองจะไม่เชื่อหรือจะโกรธแล้วมาตำหนิที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ทำให้ตนเองไม่ได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป หรือกังวลว่าจะถูกสั่งให้ไปตอบโต้ซึ่งยิ่งทำให้เรื่องแย่ลง ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง เช่น ระยะหลังไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน เก็บตัวมากขึ้น หลีกเลี่ยงกิจวัตรประจำโดยอ้างว่าไม่สบาย หรืออาจมีอารมณ์และพฤติกรรมที่แปรปรวนมากขึ้น

2.การพูดคุยกับเด็ก – หากสงสัยว่าเด็กถูกกระทำแต่เก็บเรื่องไว้กับตัว ผู้ปกครองควรหาโอกาสหยิบเรื่องราวที่สงสัยมาเป็นประเด็นการสนทนา เช่น หยิบยกข่าวขึ้นมาถามว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยพบเห็นเรื่องพวกนี้หรือไม่ และให้คำแนะนำว่าหากต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ควรทำอย่างไร เช่น แนะนำให้รีบเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจได้อย่างพ่อแม่หรือคุณครูรับรู้เพื่อจะได้ช่วยแก้ไข

เมื่อเด็กเปิดใจเล่าเรื่องให้ฟังแล้ว ผู้ปกครองควรฟังอย่างตั้งใจ โดยระงับอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจไว้เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและไม่รู้สึกว่าเผชิญปัญหาด้วยตัวคนเดียว เมื่อรับฟังแล้วควรสรุปปัญหาให้เข้าใจตรงกันและชื่นชมเด็กที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แสดงออกอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะสนับสนุนและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน นอกจากนี้ ผู้ปกครองจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้โดยเน้นย้ำว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเด็กจึงไม่ต้องกลัวที่จะถูกตำหนิ และให้มีส่วนร่วมโดยสอบถามความเห็นว่าต้องการจะแก้ไขเรื่องราวกันอย่างไร

3.การลงมือแก้ไข – การแก้ไขนั้นพึงกระทำใน 2 แนวทางควบคู่กันไป ในด้านหนึ่ง ผู้ปกครองต้องสร้างความมั่นใจและการยอมรับคุณค่าในตนเองให้กับเด็ก ให้เด็กรู้สึกว่าตนเองสามารถทำสิ่งที่ดีกว่าและมีคุณค่ากับตนเองและส่วนรวมได้ดีกว่าการตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวกับที่ถูกกระทำ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต้องบอกให้หยุดและไม่แสดงความสนใจต่อผู้กระทำอีก นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้เด็กสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทที่คอยดูแลกันและกันได้ และสนใจทำกิจกรรมกลุ่มที่หลากหลายเพื่อเข้าสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น

อีกด้านหนึ่ง โดยปกติแล้วทางโรงเรียนจะมีมาตรการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้สามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาได้ดีและรวดเร็วขึ้น ผู้ปกครองจึงควรบันทึกเหตุการณ์ เวลา สถานที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสาเหตุและผลกระทบที่เกิดกับเด็กที่ชัดเจนส่งให้ครูประจำชั้นและโรงเรียน ผู้ปกครองและโรงเรียนจะได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ผู้ปกครองพึงหลีกเลี่ยงการพยายามแก้ไขปัญหาเองด้วยการเข้าถึงตัวผู้กระทำหรือผู้ปกครองของผู้กระทำ อารมณ์ความไม่พอใจที่มีต่อกันอาจทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลายหรือกลายเป็นตัวเราเองที่กระทำการข่มขู่คุกคามต่อผู้อื่น

ปัญหาเด็กถูกข่มขู่คุกคามในโรงเรียนสามารถป้องกันและลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ต้องไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและเด็กเพียงลำพัง หรือพยายามโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่งรับไว้ แต่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกันโดยเปิดใจที่จะสื่อสาร ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโรงเรียนในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีบทบาทในการเสริมสร้างความรัก ความเอาใจใส่และความไว้วางใจต่อเด็ก พร้อมที่จะเป็นหลักยึดและที่พึ่งพิงให้กับเด็กในทุกสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น