xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “ศูนย์วิจัยด้านดิน” แห่งแรกของโลก บนพื้นที่ 800 ไร่ อ.ปากช่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทยเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย บนพื้นที่ 800 ไร่ อ.ปากช่อง ในวันดินโลก 2561 ชี้ เป็นแห่งแรกของโลก หลังภาคีดินโลกหนุนให้จัดตั้งในไทย หวังส่งเสริมการจัดการดินยั่งยืน วิจัยแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านดิน

วันนี้ (5 ธ.ค.) ที่พิพิธิภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีการจัดงาน วันดินโลก 2561 “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุขให้แก่เรา” ภายในงานมีการเสวนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “ดินสุขภาพดี สู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดำเนินรายการโดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้แทนด้านดินจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และ ผู้แทนด้านดินจากประเทศต่างๆ

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า งานวันดินโลกปีนี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะประเทศไทยได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกภาคีดินโลก (Global Soil Partnership) ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายวิชาการ องค์กรเอ็นจีโอ หน่วยงานจากสหประชาชาติและผู้ให้ทุนจากนานาประเทศ รวมทั้งสมาชิก 24 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ให้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) โดยกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ดูแลศูนย์ความเป็นเลิศดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 800 ไร่ ที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ศูนย์ความเป็นเลิศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพควบคู่ไปกับศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับดินทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

“การจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางการจัดการดินซึ่งตรงกับหัวข้อ “ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ของวันดินโลกประจำปีนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากภาคีประเทศสมาชิกสหประชาชาติ และ 24 ประเทศในเอเชียให้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย นับเป็นศูนย์วิจัยด้านดินแห่งแรกของโลก” นายระพีภัทร์ กล่าว

นายโรนัลด์ วากัส ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและที่ดินจากเอฟเอโอ ในฐานะเลขาธิการประเทศสมาชิกภาคีดินโลก กล่าวว่า จะมีการสรุปแนวทางการทำงานเพื่อเดินหน้ากิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการ ในเวทีประชุมสมัชชาภาคีดินแห่งภูมิภาคเอเชียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ต่อไป องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก ในวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาดิน

สำหรับงานวันดินโลกปี 2561 ยังมีพิธีมอบรางวัล วันดินโลก (World Soil Day Award) ให้แก่ผู้ที่มีผลงานและกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมผลักดันวันดินโลก ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และ FAO จนประสบความสำเร็จ นับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลดังกล่าว โดยผู้ได้รับรางวัล คือ องค์กร Practical Action จากบังกลาเทศ ซึ่งทำงานด้านการดูแลปัญหาดินเค็มในพื้นที่สูงและพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาดินเค็มและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง องค์กรเอกชนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากผู้เข้าชิงรางวัล 39 ราย รวมทั้งสองหน่วยงานประเทศไทย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการจัดนิทรรศการดินดี โดยใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพ แสง สี เสียง เต็มรูปแบบ นำเสนอแนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่ความรู้ทางด้านดินให้เห็นภาพอย่างชัดเจน และ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้ม จากการจัดงานวันดินโลกประจำปี 2560 ในหัวข้อ “รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” กิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและการให้โซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม

นายจง จิน คิม รองผู้แทนระหว่างประเทศ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า หนึ่งในสามของดินทั่วโลกมีสภาพเสื่อมโทรม และที่เหลือกำลังเผชิญกับภาวะเสื่อมโทรมในระดับน่าตกใจ ปัญหามลภาวะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลังคุมคามสภาวะดิน ขยะจำนวนมากที่มาจากการเติบโตของชุมชนเมือง ถูกนำไปทิ้งใต้ผืนดินโดยไม่ได้รับการจัดการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม การป้องกันมลภาวะปนเปื้อนในผืนดินเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกต้องรีบแก้ไข โดยให้การศึกษาและความตระหนักรู้เพื่อดินที่ดีและอาหารที่ปลอดภัยของประชากรโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 15 และเป้าหมายที่ 2 รวมทั้งขจัดความหิวโหย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงดำรงตำแหน่งทูตพิเศษผู้ขจัดความหิวโหยทั้งในไทยและภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น