สพฐ. ไฟเขียวปฏิทินสอบ ผอ.เขตพื้นที่ฯ 40 อัตรา รับสมัคร 24-30 ธ.ค. ประกาศผลผู้ผ่านคัดเลือก 15 ก.พ. 62 หลังจากนั้น เตรียมสอบคัดตำแหน่ง รอง ผอ.เขตพื้นที่ฯว่างอยู่กว่า 100 อัตรา “บุญรักษ์” เล็งหารือ ก.ค.ศ. วางหลักเกณฑ์สอบคัดเลือก รอง ผอ.สถานศึกษา ใหม่มีประสบการณ์ อาจให้คนใน ร.ร. มีส่วนร่วมในการคัด
วันนี้ (3 ธ.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงนามปฏิทินการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา( สพท.) จำนวน 40 อัตรา แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 31 ตำแหน่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 9 ตำแหน่ง ดังนี้ ประกาศสอบคัดเลือกภายใน วันที่ 7 ธ.ค. 2561 รับสมัครสอบคัดเลือก วันที่ 24-30 ธ.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบคัดเลือก ภายในวันที่ 9 ม.ค. 2562 ภาค ก ประเมินประวัติ ประสบการณ์ทางการทำงานและประเมินผลงาน และภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่โดยการประเมินศักยภาพ วันที่ 12-26 ม.ค. 2562 สอบข้อเขียนภาค ก ความรู้ความสามารถด้านการบริหารงาน ความรู้ความสามารถด้านการวิเคราะห์ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้โดยการสอบปรนัย วันที่ 27 ม.ค. 2562 ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข จำนวน 2 เท่าของตำแหน่งว่าง ประเมินภาค ค วันที่ 6-10 ก.พ. 2562 สัมภาษณ์ 10 ก.พ. 2562 ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 15 ก.พ. 2562
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดสอบผู้อำนวยการ สพท. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 11 ตำแหน่ง สาเหตุที่สอบก่อน เพราะหลักเกณฑ์การสอบแยกต่างหาก และอยากมีตัวเลือกไปสอบมากขึ้น ให้ได้ผู้ที่เต็มใจไปอยู่ในพื้นที่จริงๆ เมื่อสอบ ผู้อำนวยการ สพท. เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการสอบ รองผู้อำนวยการ สพท. ซึ่งว่างอยู่กว่า 100 ตำแหน่ง และบาง สพท. ไม่มีรองผู้อำนวยการ สพท. แล้ว และจะสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาตามลำดับ
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น จะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกก่อน ซึ่งแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยากให้มีการคัดเลือกรูปแบบใหม่ เช่น ให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกให้มากขึ้น วิธีการคัดเลือก กพฐ. เสนอว่า จะต้องแก้ปัญหา ท่องจำเนื้อหาเพื่อไปสอบ โดยอาจจะจัดทำสถานการณ์ขึ้น แล้วให้ผู้เข้าสอบแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีการเรียกร้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูเข้าไปมีส่วนในการคัดเลือกผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะรู้จักคนในโรงเรียนดี และผู้บริหารในโรงเรียนระดับกลางๆ เช่น หัวหน้าสายชั้น หัวหน้าหมวด น่าจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้น เน้นคนมีประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับ ไม่เน้นสอบเน้นประสบการณ์ ซึ่งจะต้องหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน โดยภายในปีการศึกษา 2563 จะต้องได้ผู้บริหารโรงเรียนครบทุกตำแหน่ง