โรงเรียน-เขตพื้นที่ฯ นับจำนวนเด็กแท้จริงพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 3 ธ.ค. ตามที่ สพฐ. กำหนด “บุญรักษ์” เผย รายงานเบื้องต้น บิ๊ก ร.ร. ใน จ.อุบลฯ เพิ่มตัวเลขเด็กอัปขนาด ร.ร. ใหญ่ขึ้น เพื่อโยกย้าย แนวโน้มอาจทำผิดจริง ระบุ รัฐไม่เสียหาย แต่ส่อผิดฐานให้ข้อมูลเท็จ โทษทั้งวินัย อาญา และแพ่ง คาดสรุปผลทางการภายในสัปดาห์นี้
วันนี้ (3 ธ.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานักเรียนไม่มีตัวตนจริงในห้องเรียนหรือเด็กผี ว่า ในวันที่ 3 ธ.ค. เป็นวันที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ นับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่จริงพร้อมกัน โดยคณะกรรมการตรวจนับของโรงเรียนและคณะกรรมการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมตรวจนับด้วย จากนั้นให้ส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลบุคคล หรือ DMC ภายในวันที่ 10 ธ.ค. ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ รายงานข้อมูลจำนวนนักเรียน โดยแยกบัญชีนักเรียนที่มีตัวตนจริง และไม่มีตัวตนออกจากกันชัดเจน ส่วนที่มีข่าวว่าการตรวจนับจะเป็นการช่วยเหลือกันนั้นไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลจำนวนนักเรียนจะมีอยู่แล้ว คือ ข้อมูลภาคเรียนที่ 1 รายงานวันที่ 10 มิ.ย. และภาคเรียนที่ 2 รายงานวันที่ 10 พ.ย. ของทุกปี ซึ่งเหมือนเป็นการปักหมุดตัวเลขอยู่แล้ว ส่วนการนับวันที่ 3 ธ.ค. นี้ คือ การตรวจเช็กความถูกต้อง หากมีความผิดปกติก็จะเห็นชัดเจน ไม่สามารถมีใครช่วยเหลือใครได้อยู่แล้ว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการเพิ่มรายชื่อนักเรียน ประมาณ 40 คน เข้าไป เพื่อให้โรงเรียนจากขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เพื่อสามารถย้ายไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ นั้น ดร.อัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ว่า แนวโน้มว่าอาจมีเจตนากระทำความผิดจริง โดยมีการย้ายแต่หลักฐานข้อมูล ชื่อนักเรียนมาลงทะเบียนในโรงเรียนใหม่ ขณะที่ตัวนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม ส่วนงบประมาณก็ไปที่โรงเรียนใหม่ ซึ่งในกรณีนี้รัฐไม่เสียหาย และถ้าหากเป็นไปตามที่รายงานมาเบื้องต้นก็ถือว่ามีความผิดในการให้ข้อมูลเท็จ ก็ต้องตรวจสอบทั้งโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง ซึ่งโทษของผู้กระทำความผิดในการให้ข้อมูลเท็จในทางราชการจะมีโทษทางวินัย อาญา และทางแพ่ง หากเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้วย
ทั้งนี้ คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้จะสรุปข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีได้ ซึ่งตามกระบวนการดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดทางวินัยเป็นอำนาจของ สพฐ. ส่วนการพิจารณาย้ายออกนอกพื้นที่หรือไม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในจังหวัดต่างๆ ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า มีปัญหาด้วย ถ้าพบว่ากระทำผิดจริงก็ดำเนินการ