xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จ่อเพิ่มค่าปรับจอด-ขับรถ “บนทางเท้า” จาก 500 เป็น 1,000 บาท เล็งใช้ CCTV จับภาพ ร่อน จม.ปรับถึงบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม. เผย 4 เดือน จับปรับคนขับ-จอดรถบนทางเท้ารวมกว่า 4 ล้านบาท สะท้อนคนยังทำผิด จ่อเพิ่มค่าปรับจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท หวังลดปัญหา พร้อมศึกษาใช้กล้องวงจรปิด จับภาพคนฝ่าฝืน ร่อนจดฟมายปรับถึงบ้าน

วันนี้ (29 พ.ย.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม. สำนักเทศกิจ และ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ว่า การแก้ปัญหารถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้าที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน โดยการรณรงค์ให้รู้จักเห็นใจและเคารพในสิทธิของผู้อื่น สังเกตได้จากสถิติการจับกุมในระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนได้เกือบหมื่นราย คิดเป็นค่าปรับประมาณ 4 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าไม่ว่า กทม. จะเข้มงวดกวดขันขนาดไหน ก็ยังคงมีผู้ฝ่าฝืนให้เห็น โดยเฉพาะทางเท้าที่ไม่มีการตั้งจุดกวดขันจะมีผู้ฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงได้มีการประชุมหารือและมีมติตรงกันว่า ควรจะปรับเปลี่ยนค่าปรับให้สูงขึ้น

“เดิมค่าปรับอยู่ในอัตรา 500 บาท ก็จะปรับให้สูงขึ้นเป็น 1,000 บาท ซึ่งอัตราค่าปรับที่สูงขึ้นบวกกับการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่เทศกิจอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเข็ดหลาบ และไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ กทม. ยังได้คิดแนวทางการแก้ปัญหาผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดขับขี่รถบนทางเท้า โดยการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการนำภาพผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดจากกล้อง CCTV มาเปรียบเทียบปรับ โดยการส่งจดหมายปรับไปยังบ้านของผู้กระทำความผิด ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักเทศกิจไปศึกษากับทางตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันว่า ในส่วนของ กทม.สามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดและมีข้อจำกัดในด้านใดบ้าง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นายสกลธี กล่าวว่า กล้อง CCTV ของ กทม. เป็นกล้องที่ใช้เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ใช่กล้องที่ใช้จับผู้กระทำความผิดขับขี่รถบนทางเท้า ซึ่งหากหันกล้องไปจับผู้กระทำความผิดขับขี่รถบนทางเท้าก็จะทำให้จุดอับอื่นมีปัญหา เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่งจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดขับขี่รถบนทางเท้าคู่ขนานกับการศึกษาความเป็นไปได้ของฝ่ายกฎหมายสำนักเทศกิจ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการป้องกันผู้ฝ่าฝืนได้

นายสกลธี กล่าวว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การนำเจ้าหน้าที่ไปวางตามจุด เพื่อจับปรับตรงที่เกิดเหตุเป็นการปฏิบัติที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดโดยซึ่งหน้า ทำให้ผู้กระทำความผิดปฏิเสธการกระทำความผิดได้ยาก แต่ด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่เทศกิจที่มีจำนวนจำกัด ทำให้ไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเฝ้าระวังป้องปรามได้ในทุกจุดและทุกเวลา แต่ในจุดกวดขันที่ตั้งขึ้นทั้ง 233 จุดทั่วกรุงเทพฯ ต้องไม่มีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิด ซึ่งหากจุดไหนมีเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำ แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดจะถือว่าสำนักงานเขตนั้นละเลย ก็ต้องมีการคาดโทษ โดยหลังจากนี้ จะมีการสุ่มตรวจจุดกวดขัน โดยสำนักเทศกิจจะประสานกับสำนักงานเขต และตำรวจในพื้นที่ จัดทำแผนตรวจร่วมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น