xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสอบคลินิกศัลยกรรมนมเน่าย่านรังสิต สบส.เผยปัญหาร้องเรียนปี 61 พุ่ง 668 ครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สบส. มอบ สสจ.ปทุมธานี ตรวจสอบคลินิกศัลยกรรมนมเน่าย่านรังสิต พร้อมดูโฆษณาผิดกฎหมาย มีนายหน้าเกี่ยวหรือไม่ เผย ปีงบประมาณ 61 มีเรื่องร้องเรียนสถานพยาบาล 668 ครั้ง เป็นเรื่องการให้บริการมากสุด ตามด้วยการรักษา การตรวจสอบสถานพยาบาล และคลินิกเถื่อน

วันนี้ (29 พ.ย.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคลินิกศัลยกรรมเต้านมย่านรังสิต จ.ปทุมธานี หลังถูกร้องทำศัลยกรรมจนนมเน่า ว่า ขณะนี้สำนักงาสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ได้ขอให้ทางส่วนกลางส่งนักกฎหมายเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งทาง สบส. ได้ส่งไปแล้ว และจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทาง สสจ. ในการดำเนินการ พร้อมทั้งให้ข่าวต่างๆ เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ และทาง สบส. ได้มอบอำนาจตามกฎหมายแล้ว เพราะอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค ก็จะเป็นส่วนท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งในที่นี้ คือ สสจ.ปทุมธานี ส่วนทาง สบส. ส่วนกลางก็จะสนับสนุนข้อมูลตามที่มีการร้องขอ

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เบื้องต้นก็จะมีการตรวจสอบในประเด็นข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ 1. คลินิกที่ถูกกล่าวอ้าง มีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ หรือไม่ และ 2. หากคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลได้ควบคุม ดูแล คุณภาพ มาตรฐานของสถานพยาบาล ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ ซึ่งประกอบด้วย 1. สถานที่มีความสะอาด เหมาะสมกับการเป็นสถานพยาบาล 2. แพทย์ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพฯ 3. มีการให้บริการที่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพและประเภทสถานพยาบาล 4. ยาและเวชภัณฑ์ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 5. ด้านความปลอดภัย มีการเตรียมความของพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตหากเกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้รับบริการ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯตรวจสอบพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือตกมาตรฐานแม้ด้านใดด้านหนึ่งจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที

“นอกจากนี้ ส่วนประเด็นที่ระบุว่า มีการโฆษณาด้วยนั้น ก็ต้องไปตรวจสอบว่า การโฆษณาได้ขออนุญาตหรือไม่ อย่างในที่นี้คือ จ.ปทุมธานี ก็ต้องให้ทาง สสจ. ไปตรวจสอบว่า มีการขออนุญาตการโฆษณาในพื้นที่หรือไม่ แต่หากเป็นการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์อันนี้ต้องตรวจสอบว่า เป็นการโฆษณาลักษณะใด และมีการขออนุญาตมายังส่วนกลางหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องรอการตรวจสอบก่อน” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวและว่า ส่วนประเด็นว่าอาจมีนายหน้าเข้ามาในการทำการโฆษณาให้นั้น ก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน เพราะหากไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสรุปเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสถานพยาบาลและการรับบริการสาธารณสุข ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพปีงบประมาณ 2561 หรือตั้งแต่ ต.ค.2560-ส.ค.2561 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมดรวม 668 ครั้ง โดยในจำนวนนี้เป็นการร้องเรียนเรื่องการให้บริการสถานพยาบาลมากที่สุด 167 ครั้ง รองลงมาคือการรักษาพยาบาล 133 ครั้ง การตรวจสอบสถานพยาบาล 103 ครั้ง ร้องเรียนคลินิกเถื่อน 53 ครั้ง เรื่องค่ารักษาพยาบาล 34 ครั้ง ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น