xs
xsm
sm
md
lg

คณะบริหารธุรกิจ มทร.กรุงเทพ ปลื้มสร้างบัณฑิตสายสังคมจบมีงานทำ 85%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มทร.กรุงเทพ ปลื้มครบรอบ 12 ปี คณะบริหารธุรกิจ สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่น ชี้ สายสังคมมีงานทำ 85% ลั่นผลิตไม่พอตลาดแรงงาน ชี้ สาขานักประเมินราคาทรัพย์สิน ขาดแคลนหนัก 1 ในกว่า 50 วิชาชีพที่เด็กวัยเรียนเข้าไม่ถึง

ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวภายหลังการเปิดงาน UTK OPEN HOUSE 2018 “มหกรรมการอบรมหลักสูตรวิชาชีพ” ว่า วันนี้ มทร.กรุงเทพ เปิดงาน OPEN HOUSE ซึ่งมีการเปิดฝึกอบรมวิชาชีพมากกว่า 55 วิชาชีพ เพื่อให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้เข้าใจถึงหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนในแต่ละภาคของคณะฯ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละหลักสูตรมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีข้อมูลเกี่ยวกับคณะหรือสาขาวิชาเพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเด็กมัธยมจะไม่รู้ว่าวิชาชีพในชีวิตจริงนั้นมีหลากหลายอาชีพมาก จึงได้เชิญชวนนักเรียนมัธยมซึ่งอยู่ในช่วงของการก้าวเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาได้มาเรียนรู้ โดยมหาวิทยาลัยได้พัฒนาวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของรัฐบาลเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งได้จัดทำหลักสูตรพันธ์ใหม่เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล เช่น โลจีสติกส์ อุตสาหกรรมการบิน ช่างซ่อมอากาศยาน โดยกำลังจะเปิดหลักสูตรธุรกิจการบิน หุ่นยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงผลิตบัณฑิตจบแล้วมีงานทำ เพราะทำตามนโยบายรัฐบาลที่วิเคราะห์มาแล้วว่าวิชาชีพใดจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

มทร.กรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งวิชาชีพ นักศึกษาของเราที่จบไปตอบสนองต่อตลาดแรงงาน การันตีมีงานทำเฉลี่ยทุกหลักสูตรถึง 85 % บางสาขาสูงถึง 100% เพราะระบบการเรียนการสอนเน้นวิชาชีพที่ให้นักศึกษาปฏิบัติจริงในทุกหลักสูตร ซึ่งก่อนจบนักศึกษาต้องผ่านสหกิจศึกษา เมื่อรัฐบาลพุ่งเป้าไปสู่ 5 อุตสาหกรรมเก่าและ 5 อุตสาหกรรมใหม่ เราจึงพัฒนาวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของรัฐทั้งหมด โดยในส่วนของวิชาชีพด้านสายบริหารนั้น ด้วยจุดเด่นของคณะบริหารธุรกิจที่เป็นบริหารสายปฏิบัติ ทั้งการตลาด บัญชี ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจดิจิทัล ขณะนี้ ผลิตได้ไม่เพียงพอกับตลาดที่มีความต้องการสูงมาก รวมถึงสาขาการจัดการที่คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่จำเป็นซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการจัดการคือหัวใจของทุกสถานประกอบการที่เป็นสายสนับสนุนการทำงานให้องค์กร หน่วยงานในทุกแผนกของสถานประกอบการนั้นๆ ให้มีระบบการจัดการที่ดี ส่งผลต่อผลผลิตที่ดี ลดค่าใช้จ่าย ฉะนั้น วิชาชีพนี้ไม่ง่ายถือเป็นศาสตร์ของการจัดการที่ต้องเรียนรู้ และขอย้ำถึงคำครหาว่า “สายสังคม” เรียนไปแล้วตกงาน สำหรับ มทร.กรุงเทพ เราเป็นสายสังคมทางด้านวิชาชีพ ซึ่งทุกคนก็ต้องอยู่ในสังคมด้วยวิถีชีวิตและความเข้าใจ” ดร.สุกิจ กล่าว

ดร.สุกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัยกำลังตอบสนองยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในเรื่องใหม่ๆ คือธุรกิจการบิน แนวโน้มสนามบินในประเทศไทย โดยเฉพาะสนามบินต่างจังหวัดเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องการบุคลากรจำนวนมากในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่จะปฏิบัติการภาคพื้นดิน ซึ่งคาดว่าจะเปิดหลักสูตรธุรกิจการบินในปีการศึกษา 2562 นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าเรียนไปเพื่อประกอบอาชีพอะไร ทั้งที่มีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน เพราะการจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หากขาดนักประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ประเมินโครงการอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายของทรัพย์สิน ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพย์สินที่แท้จริง โดย มทร.กรุงเทพ เปิดสอนมากว่า 30 ปีแล้ว ดังนั้น ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยขาดนักประเมินราคาทรัพย์สินมืออาชีพที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพฯ และเป็นผู้ประเมินหลัก ทั้ง 3 ระดับชั้น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าใบประกอบวิชาชีพและในอนาคตอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน” ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งโดยกรมธนารักษ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทย ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเด็กและเยาวชนในวัยเรียนยังไม่รู้จักอาชีพที่มีมากกว่า 50 อาชีพในโลกนี้

ด้าน ผศ.ดร.กิ่งแก้ว เอี่ยมแฉล้ม คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ของคณะบริหารธุรกิจ โดยรากเหง้าของเราก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยเกิดจากการรวมกัน 3 วิทยาเขตมากว่า 100 ปี สร้างนักศึกษามาหลายหมื่นคน โดยคณะบริหารธุรกิจของ มทร.กรุงเทพ เป็นสายสังคมที่ไม่มีนักศึกษาตกงาน เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนมีความทันสมัย ตลาดแรงงานยังต้องการใช้บัณฑิตที่จบด้านนี้อยู่มาก ทั้งบัญชี การตลาด ภาษาอังกฤษธุรกิจ สารสนเทศด้านไอที ฉะนั้น 12 ปี จากการมาเป็นมหาวิทยาลัย โดยการนำประสบการณ์กว่า 100 ปีที่พัฒนามาโดยตลอดนำสิ่งดีๆ มาใช้ ทำให้การจัดการศึกษาของเราเข้มแข็งอย่างมาก นักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี

“ด้วยจุดแข็งของคณะบริหารธุรกิจที่เน้นการปฏิบัติ โดยสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่คงเอกลักษณ์จากรากฐานความเป็นเทคนิคกรุงเทพเดิม สู่การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองในเรื่องของไทยเลนด์ 4.0 ทั้งหลักสูตรเดิม 8 หลักสูตรและกำลังพัฒนาหลักสูตรใหม่ ได้แก่ ธุรกิจการบิน ซึ่งจะเปิดในปีการศึกษา 2562 หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับคณะศิลปศาสตร์ ขณะนี้ กำลังดำเนินการจัดทำเล่มหลักสูตรที่จะเสนอสภามหาวิทยาลัย โดยคาดว่าจะเปิดได้ในปี 2563 ดังนั้น ทิศทางในอนาคตของคณะบริหารธุรกิจ โดยศาสตร์ของนักบริหารจัดการ เชื่อได้ว่าจะไม่มีที่ไหนที่ไม่ต้องการนักบริหาร นักการตลาด นักบัญชี นักสารสนเทศด้านภาษาและไอที หรือนักการจัดการ เพราะด้วยผลลัพธ์ในการผลิตบัณฑิตที่ผลิตเท่าไรก็เป็นที่ต้องการของตลาด มีแต่คนต้องการเด็กของเรา ซึ่งเรามีห้องปฏิบัติการครบทั้ง 8 หลักสูตร ที่พร้อมพัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.กรุงเทพ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการจัด UTK OPEN HOUSE 2018 “มหกรรมการอบรมหลักสูตรวิชาชีพ” แล้ว คณะบริหารธุรกิจ ยังได้จัดงานคอนเสิร์ตการกุศล “12 Years BUS++ CHARITY Concert” เพื่อหาทุนสนับสนุนในการสร้างห้องกิจกรรมพร้อมครุภัณฑ์สนับสนุนงานกิจกรรมให้กับนักศึกษาฝ่ายกิจกรรม สโมสรนักศึกษา นักศึกษาต่างๆ มาใช้ประโยชน์จากห้องนี้ และเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมถือเป็นการดำเนินตามภารกิจหลักใน 4 ด้านของสถาบันอุดมศึกษา คือ สอน วิจัย บริการวิชาการ และศิลปวัฒนธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น