xs
xsm
sm
md
lg

ไปอีกราย “ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ลาออกประธานบอร์ด กพฐ.เลี่ยงยื่นบัญชีทรัพย์สิน หวั่นผู้ไม่หวังดีหาประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ธีระเกียรติ” เผย “ปิยะบุตร” ยื่นหนังสือลาออกประธานบอร์ด กพฐ. ปมยื่นทรัพย์สิน ระบุ เจ้าตัวเป็นกรรมการในบอร์ด สมศ. ที่ออกยกชุดด้วยเหตุผลเดียวกัน ย้ำ รัฐบาล-ป.ป.ช.เร่งหาทางออก ด้าน “สมพงษ์” ชี้ 1-2 เดือนจะเกิดปรากฏการณ์บอร์ดต่างๆ ยื่นลาออกนับพันฉบับ 

วันนี้ (28 พ.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ยื่นลาออก เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะจึงกังวลจะเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีมาหาผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ สมศ. ยื่นลาออกทั้งชุดด้วยนั้น ว่า เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของ รศ.ดร.ณมน ตนไม่ทราบและเจ้าตัวไม่ได้บอกตนว่าเป็นกังวลเรื่องความยุ่งยาก และล่าสุดนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เข้าพบพร้อมยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธาน กพฐ. แล้ว โดยให้เหตุผลเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจาก นายปิยะบุตร เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการ สมศ. ซึ่งได้ยื่นลาออกทั้งคณะ เพราะฉะนั้น จึงต้องยื่นลาออกจากตำแหน่งประธาน กพฐ. ด้วย

“ส่วนที่ประกาศ ป.ป.ช. นี้ อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาทำงาน ตอนนี้ก็มีผลกระทบกับทุกคนทั่วประเทศ เพราะขณะนี้ก็มีคณะกรรมการของหลายหน่วยงานที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. ก็ตัดสินใจลาออก ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ สมศ. แต่ยังมีคนที่กำลังจะมาเป็นกรรมการใหม่ด้วย จึงต้องรอความชัดเจนซึ่งรัฐบาล และ ป.ป.ช. ออกมาพูดแล้วว่ากำลังหาทางแก้ไขปัญหา ส่วนที่บางคนรอไม่ได้ตัดสินใจยื่นลาออก ทั้งๆ ที่ผมได้บอกแล้วว่าขอให้รอก่อน ตรงนี้ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากท้ายที่สุด ป.ป.ช. จะมีมติอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตาม เเม้อาจจะสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ หรือนายกสภาเเละกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ยาก เเต่เชื่อว่า ก็จะสรรหาได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากนี้ไป 1-2 เดือน รัฐบาล และ ป.ป.ช. จะเห็นปรากฎการณ์การยื่นจดหมายลาออกจากบอร์ดต่างๆ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยนับพันฉบับ  ซึ่งจะทำให้เกิดช่องโหว่ของสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ ส่งผลให้งานหยุดชะงัก ไปไม่น้อยกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี กว่าที่จะหากรรมการชุดใหม่ได้เรียบร้อย 

“ป.ป.ช. ตีความว่านายกสภาและกรรมการสภาฯ เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ซึ่งต้องยื่นทรัพย์สิน เพื่อการตรวจสอบและความโปร่งใส ซึ่งข้อเท็จจริงเราก็ยอมรับว่ากรรมการมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่มีปัญหาความไม่โปร่งใส แต่ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหา แต่ ป.ป.ช.ออกกฎหมายแบบครอบจักรวาล ทำให้คนภายนอกที่ตั้งใจจะเข้ามาช่วยมหาวิทยาลัยไม่กล้าเข้ามา ทั้งๆที่รัฐบาลประกาศให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตนวัตกรรม ผลิตองค์ความรู้ และให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัย แต่กฎหมาย ป.ป.ช. กลับเป็นตัวผลักคนที่มาช่วยมหาวิทยาลัยให้ออกไป ซึ่งจะยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยถูกแช่แข็ง ไม่พัฒนา ส่งผลเสียมากกว่าผลดี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบความโปร่งใสของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็เป็นหน้าที่ของสภาคณาจารย์อยู่แล้ว เราควรส่งเสริมให้สภาคณาจารย์เข้มแข็ง มีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น