เภสัชกรหวั่น อย. ปรับลดสถานะยา “ยาลอราทาดีน” ยาลดอาการแพ้จากยาอันตราย เหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ ส่งผลให้สามารถวางขายได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกรควบคุม หนำซ้ำยังเปิดช่องให้โฆษณาได้ คาดประชาชนจะใช้ยาไม่สมเหตุสมผลอื้อ เสี่ยงรับผลกระทบเพียบ
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมปรับลดสถานะควบคุมยาลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งเป็นยาลดอาการแพ้ จากเดิมที่อยู่ในประเภทยาอันตรายที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น มาเป็นยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ตามร้านขายยาทั่วไปได้นั้น
วันนี้ (25 พ.ย.)ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ยาลอราทาดีนเป็นยาอันตราย และที่ผ่านมา ก็มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ได้มาก โดยข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) อย. ในปี 2561 หรือระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลอราทาดีนมากถึง 501 เคส
ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า เดิมยาลอราทาดีนถูกกำหนดให้เป็นยาอันตราย จำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่มีเภสัชกรประจำร้านควบคุมเท่านั้น แต่หากมีการปรับลดสถานะให้เหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ จะทำให้สามารถวางขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ (ขย.2) ซึ่งไม่ต้องใช้ใบสั่งยา และไม่ต้องมีเภสัชกรดูแลแต่อย่างใด
“ถ้าเหตุผลของการปรับลดสถานะของยา คือ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นนั้น ข้อมูลจากฐานใบอนุญาตด้านขายยา ปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีร้านขายยา ขย.1 อยู่ 18,900 แห่ง ขณะที่ ขย.2 มีเพียง 2,940 แห่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าร้าน ขย.1 มีสัดส่วนมากกว่า ขย.2 อยู่ถึง 6.4 เท่าอยู่แล้ว” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ภญ.สุภาวดี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หาก อย. ปรับลดสถานะยาลอราทาดีนลงเหลือเพียงยาบรรจุเสร็จฯ ยาลอราทาดีนจะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่สมเหตุสมผลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการถูกซื้อมารับประทานเพื่อลดน้ำมูกในโรคหวัด ทั้งที่ยาดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพกับการลดน้ำมูกสักเท่าใด นอกจากนี้ ขนาดของยาลอราทาดีนที่เหมาะสม คือ 1 เม็ด ซึ่งจะออกฤทธิ์ครอบคลุมระยะเวลา 1 วัน แต่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นชินกับการรับประทานยาเช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน หรือทุกๆ 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานตามอาการ นั่นจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยา อาทิ ง่วงซึม ปากแห้ง รวมไปถึงหากมีการใช้ร่วมกับยาที่เกิดปฏิกิริยากันด้วยแล้ว จะก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
“ที่น่ากังวลก็คือ การโฆษณา เพราะตามกฎหมาย พ.ร.บ. ยา ระบุว่า ไม่สามารถโฆษณายาอันตรายได้ แต่หากมีการปรับลดสถานะลงมา จะทำให้ผู้ผลิตสามารถโฆษณาแสดงสรรพคุณของยาผ่านสื่อต่อประชาชนทั่วไปได้ ซึ่งตรงนี้จะยิ่งทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลขึ้นอย่างแน่นอน คำถามก็คือหาก อย.ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น แต่การเข้าถึงนั้นเป็นการเข้าถึงอย่างไม่สมเหตุสมผล จะมีประโยชน์อะไร” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ภญ.สุภาวดี กล่าวอีกว่า ขอแสดงความไม่เห็นด้วย และคัดค้านการปรับลดสถานะควบคุมยาลอราทาดีน โดยที่ผ่านมา อย. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวในช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใดๆ จนล่าสุดทราบมาจากหนึ่งในคณะกรรมการยาแห่งชาติว่า ขณะนี้การปรับลดสถานะยาผ่านมติคณะกรรมการยาแห่งชาติแล้ว แต่ อย. ยังไม่ได้ประกาศออกมา