xs
xsm
sm
md
lg

แนะ 5 ขั้นตอนล้าง “แท็งก์น้ำ” คอนโด หลังพบคนแอบหย่อนถุงอึ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมอนามัย แนะ 5 ขั้นตอนล้างแท็งก์น้ำ ระบบประปา “คอนโด” ให้สะอาดหมดจด หลังพบถุงอึในแท็งก์น้ำสุดสยอง

วันนี้ (24 พ.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการทำความสะอาดระบบประปาของคอนโดมิเนียมย่านเมืองนนทบุรี ที่มีพบถุงอุจจาระภายในแท็งก์น้ำ ว่า นิติบุคคลหรือผู้ดูแลคอนโด ควรมีการดำเนินการทำความสะอาดแท็งก์น้ำโดยด่วน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ โดยในเบื้องต้นควรทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำโดยด่วน 5 ขั้นตอน คือ 1. ล้างด้วยสารทำความสะอาดขัดให้ทั่วทั้งภายในภายนอก 2. ล้างด้วยน้ำประปาหรือน้ำสะอาด 2 ครั้ง 3. แช่น้ำผสมคลอรีนให้เต็มถังที่ระดับความเข้มข้นคลอรีน 50-100 ppm. แช่ทิ้งไว้ 30 นาที 4. ปล่อยน้ำทิ้ง ใช้บรรจุน้ำประปาได้เลย ไม่ต้องล้างน้ำซ้ำ และ 5. ให้มีระดับคลอรีนตกค้างในน้ำที่ใส่ถังพักไม่ต่ำกว่า 0.2 ppm. ที่สำคัญ ต้องปิดฝาแท็งก์น้ำให้มิดชิด

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในเชิงกฎหมายลักษณะการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 237 และประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 420 และ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 คือ มาตรา 237 ผู้ใดเอาของที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในอาหารหรือในน้ำซึ่งอยู่ในบ่อ สระหรือที่ขังน้ำใดๆ และอาหารหรือ น้ำนั้นได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

“ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียนได้ที่ราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของท้องที่นั้น ตามมาตรา 27 ในกรณีที่มีเหตุรําคาญเกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรําคาญนั้น ระงับหรือป้องกันเหตุรําคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคําสั่งและถ้าเห็นสมควรจะให้กระทําโดยวิธีใดเพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรําคาญนั้น หรือสมควรกําหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรําคาญ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้ระบุไว้ในคําสั่งได้ โดยในเบื้องต้น กรมอนามัยได้ประสานงานกับทางเทศบาลนครนนทบุรี ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อดำเนินการตรวจสอบและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของน้ำจากสิ่งสกปรกต่อไป พร้อมแนะนำในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ ต่อไปด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น