xs
xsm
sm
md
lg

ทาบ 2 ผู้เชี่ยวชาญไอทีมหา'ลัยเป็นกรรมการสอบ UniNet

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หมออุดม” เผย ทาบ 2 ผู้เชี่ยวชาญไอทีจากมหาวิทยาลัยร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง UniNet เชื่อ มีความเป็นกลาง ยุติธรรมทุกฝ่าย คาด สัปดาห์นี้เสนอชื่อให้ รมว.ศึกษาธิการ ลงนาม

วันนี้ (22 พ.ค.) ศ.(คลินิก) นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีบริษัทเอกชนร้องเรียนต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กรณีโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ ยูนิเน็ต (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งฝ่ายกฎหมาย และ พล.อ.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า การเขียนขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ บางข้อเขียนเฉพาะเจาะจงเกินไป เช่น บริษัทที่เข้าประมูลต้องมีสำนักงานอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก สกอ. อาจจะเป็นการล็อกคุณสเปกหรือไม่ และสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ตนดำเนินการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ได้ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย 2 รายที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาร่วมตรวจสอบ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ส่วนประธานคณะกรรมการ เป็นอำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอรายชื่อให้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ภายในสัปดาห์นี้

“ผมคิดว่าการที่มีกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกที่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องดีจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะลำพังแค่เราอ่านบางเรื่องเราก็ไม่เข้าใจ ส่วนที่ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่า อยากให้กรรมการตรวจสอบเป็นบุคคลภายนอก เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี นั้น ไม่ได้ประสานไปที่ดีอี แต่การเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากมหาวิทยาลัยก็ถือว่าเป็นผู้มีความกลาง ส่วนที่ทีโออาร์ที่กำหนดนั้นจะเอื้อประโยชน์ หรือไม่ ล็อกสเปก หรือไม่ ก็ต้องให้กรรมการตรวจสอบฯเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เมื่อมีผู้ร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ทาง สกอ. ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าที่ทำมีเหตุผลอะไร และถึงแม้ว่าผู้ร้องเรียนจะไม่ใช่ผู้ที่เข้าร่วมประมูล แต่การร้องเรียนก็สามารถทำได้เป็นกฎธรรมชาติ” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น