xs
xsm
sm
md
lg

“สุภัทร” ลั่นไม่กังวลพร้อมแจงทุกประเด็น UniNet ส่อล็อกสเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สุภัทร” ยัน ทีโออาร์ประมูล “UniNet” ทำตามขั้นตอน ตั้งข้อสังเกตคนร้องไม่ได้ร่วมประมูล พร้อมรับการตรวจสอบและแจงในทุกประเด็น ลั่นขอกรรมการคนนอก เช่น ดีอี นั่งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เตรียมส่งหนังสือแจงกรมบัญชีกลางสัปดาห์นี้

วันนี้ (19 พ.ย.) ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบริษัทเอกชน กรณีโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ ยูนิเน็ต (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า การเขียนขอบเขตงานหรือ ทีโออาร์ บางข้อเขียนเฉพาะเจาะจงเกินไป เช่น บริษัทที่เข้าประมูลต้องมีสำนักงานอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก สกอ. อาจจะเป็นการล็อกคุณสเปกหรือไม่ ล่าสุด ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมอบ ดร.อำนาจ พิชยานุวัติ รองปลัด ศธ.เป็นประธานนั้น ว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นอำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ ส่วนตัวไม่กังวลเรื่องการตรวจสอบและเป็นหน้าที่ของตนที่ต้องเข้าไปชี้แจงทุกประเด็น

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทีโออาร์อาจจะล็อกสเปกนั้น ตามขั้นตอนแล้วจะมีคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์และประกาศต่อสาธารณะ เพื่อให้บุคคลที่สนใจเข้าไปอ่าน เท่าที่ทราบเมื่อมีการลงประกาศไม่มีคนทักท้วง มีเพียง 2-3 ราย เข้ามาข้อรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่มาร้องเรียนตนทราบว่า ไม่ใด้เป็นผู้มารับเอกสารรายละเอียดการประมูล และไม่ได้เข้ามาร่วมประมูลด้วย จึงถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมูลเลย ซึ่งในข้อร้องเรียนที่ตนอ่านนั้น มีอยู่ 2-3 ข้อ ที่อ่านแล้วสงสัย เช่น บริษัทที่เข้าประมูลต้องมีสำนักงานอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก สกอ. แต่ความจริง สำนักงานที่ต้องตั้งอยู่ใกล้ สกอ. เป็นสำนักงานประสานงาน ที่ต้องมีคนประจำ เพื่อคอยประสานงานระหว่างกันตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากหาตึกหรือห้องที่มีเนื้อที่ 20-30 ตารางเมตรเช่าได้ ก็สามารถตั้งสำนักงานได้แล้ว ซึ่งบริเวณรอบ สกอ. มีตึกให้เช่าจำนวนมาก มีราคาเช่าสมเหตุสมผล ส่วนสำนักงานใหญ่จะอยู่ตรงไหนก็ได้ ซึ่งบริษัทนั้นชนะประมูล ที่ต้องตั้งสำนักงานประสานงานใกล้กับ สกอ. หลังจากที่ชนะประมูลภายใน 1 เดือน

“ส่วนที่กำหนดให้มีอุปกรณ์ที่ไว้คอยซ่อมแซมหรือเปลี่ยน เมื่อมีอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย ตามที่กำหนดไว้ทีโออาร์ ไม่ได้กำหนดยี่ห้อ ระบุแค่ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เท่าที่ดูมีอยู่ 4-7 ยี่ห้อที่บริษัทผู้ชนะประมูลสามารถเลือกใช้ได้ แต่ผู้ร้องเรียนกับบอกว่าการที่ไม่กำหนดยี่ห้อ ถือเป็นการล็อกสเปก เพราะคนที่เคยทำหรือเป็นลูกค้าเก่าจะรู้สเปกอยู่แล้ว ทั้งนี้ เรื่องเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการล็อกสเปกแต่เป็นเรื่องของขั้นตอน และวิธีการดำเนินงานมากกว่า” ดร.สุภัทร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมชี้แจงต่อสาธารณะ และยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ ให้ตนชี้แจง ส่วนตัวอยากได้คนนอกที่ตรงไปตรงมา หรือคนที่มีจากกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีเข้ามาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบฯ ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯและขณะนี้การประมูลก็เสร็จสิ้นแล้วจากนี้จะต้องชะลอกระบวนการในขั้นต่อไปก่อนหรือไม่ ดร.สุภัทร กล่าวว่า ต้องชะลอหรือไม่ตนไม่ทราบ ต้องถามไปยังกรมบัญชีกลางว่าควรจะทำอย่างไร ขณะนี้กำลังทำหนังสือสรุปและอธิบายประเด็นที่ถูกร้องเรียน เพื่อเสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาให้ความเห็น คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้สามารถส่งหนังสือได้

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เป็นสิทธิของ ดร.สุภัทร ที่จะออกมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนมอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแล สกอ. เป็นผู้ดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น