xs
xsm
sm
md
lg

สบส.สรุปผลสอบ “รพ.พระราม 2” ผิดมาตรฐาน 5 เรื่อง ส่งสภาพยาบาลตัดสินจริยธรรม 1 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สบส. แถลงสรุปผลสอบข้อเท็จจริง “รพ.พระราม 2” เข้าข่ายผิด 5 กระทง ผิดมาตรฐานสถานพยาบาล เตรียมแจ้งความร้องทุกข์ ที่ สน.ท่าข้าม วันที่ 21 พ.ย. นี้ ดำเนินคดีทั้งผู้รับอนุญาตสถาพยาบาลและผู้ดำเนินการ ส่วนพยาบาลยอมรับไม่ได้รายงานแพทย์เวร เข้าข่ายผิดมาตรฐานวิชาชีพ ส่งสภาการพยาบาลพิจารณาจริยธรรม

ความคืบหน้าการพิจารณา รพ.พระราม 2 ดำเนินการดูแล น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน สาวถูกสาดน้ำกรด ที่เสียชีวิตระหว่างการส่งต่อ เข้าข่ายผิดมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้เสียหาย รพ.พระราม 2 และ รพ.เอกชนที่รับส่งต่อมาให้ข้อมูล

วันนี้ (20 พ.ย.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวผลสรุปการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน กรณี รพ.พระราม 2 ว่า หลังจากเกิดเหตุเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ทาง สบส. ก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที ซึ่งพบการกระทำผิด พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ เรื่องดัดแปลงแก้ไขอาคารจอดรถมาเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยไม่ขออนุญาต เจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดทันทีและให้ดำเนินการแก้ไข ส่วนประเด็นไม่ทำตามมาตรฐานเข้าข่ายการกระทำความผิดที่มีอัตราโทษสูง จะต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย จึงต้องเอาเรื่องของสู่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีกรรมการทั้งหมด 15 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก และมีฝ่ายกฎหมายของ สบส. รองอธิบดี สบส. และ ผอ.สำนักสถานพยาบาลฯ เข้าร่วม และได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ รพ.พระราม 2 และ รพ.ที่เกี่ยวข้องแห่งที่สอง คือ รพ.บางมด มาให้ข้อมูล ใช้เวลาตั้งแต่ 13.00 - 19.00 น. โดยคณะกรรมการฯ ได้ส่งผลการประชุมให้อธิบดี สบส.พิจารณามี 5 กรณี ที่เข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2559 ดังนี้

1. กรณีที่พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจประเมินวินิจฉัยอาการผู้ป่วยและรักษาเบื้องต้นโดยไม่รายงานแพทย์ คณะกรรมการฯ มีมติเข้าข่ายกระทำผิดเรื่องการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพตัวเอง อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 34(1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้ดำเนินสถานพยาบาลในชั้นศาล

2. กรณีพยาบาลให้การตรวจรักษาแล้ว จากการสอบถามพบว่า ได้รายงานผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการฯ จึงได้สั่งการให้รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล แสดงว่ามีความจำเป็นต้องรับการประเมินจากแพทย์ ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปนอน รพ.ตามที่ได้สั่งการ ดังนั้น คณะกรรมการฯ มีมติว่า อาจจะเข้าข่ายไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เข้าข่ายผิดมาตรา 34(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

3. ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉิน และการคัดแยกระดับฉุกเฉินตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 35(3) และ (4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการมีมติให้เปรียบเทียบปรับ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

4. ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยในสภาพอันตรายและต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินให้พ้นขีดอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาล อาจเข้าข่ายผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ควบคุมให้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 33/1 โดยเข้าข่ายเอาผิดตามมาตรา 36 วรรค 1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

และ 5. เมื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว มีการอ้างความต้องการผู้ป่วยเองไปรักษา รพ.แห่งที่สอง เรื่องนี้เข้าข่ายเรื่องส่งต่อโดยไม่เหมาะสม ตามมาตรา 36 วรรค 3 อาจจะมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแจ้ง โดยให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

“สุดท้ายแล้วคณะกรรมการฯ มีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ทั้งหมด ทั้งเปรียบเทียบปรับและจำคุก หลังจากมีมติแล้ว กองกฎหมายได้ส่งเรื่องมาที่อธิบดีเมื่อช่วงเช้าแล้ว เพื่อให้ความเห็น โดยได้ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ ต่อไป คือ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนที่ สน.ท่าข้าม ซึ่งวันนี้จะทำหนังสือและส่งในวันที่ 21 พ.ย. ต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยพนักงานสอบสวนจะเริ่มเรียกมาสอบสวนตามกฎหมาย ก่อนส่งต่ออัยการ ว่าจะฟ้องประเด็นอะไร และศาลจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าให้กรมฯ พิจารณาลงโทษเอง ก็เหมือนใช้ดุลพินิจของกรมฯ อาจไม่ได้ให้ความเป็นธรรมผู้เสียหายได้ ต้องมีกระบวนการยุติธรรมมารองรับเพื่อให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย" นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวและว่า สำหรับการเปรียบเทียบปรับนั้น คณะอนุกรรมการเปรียบเทียบจะพิจารณาว่า ทั้งหมดปรับเท่าไร โดยจะเสนอวงเงินเปรียบเทยบปรับต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ ต่อไป

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับสถานพยาบาล คือ พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาและยอมรับว่า ไม่ได้รายงานแพทย์เวร กรณีนี้เข้าข่ายเรื่องจริยธรรมประกอบวิชาชีพไม่เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด จะส่งเรื่องนี้ต่อสภาการพยาบาลพิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มาจากการซักในเชิงลึกและตัวพยาบารยอมรับเองว่าไม่ได้รายงาน เพราะเห็นว่าผู้เสียหายขอไปรักษาอีกแห่งตามสิทธิของตัวเอง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า มีตารางเวรของแพทย์เวรตามที่ขออนุญาต ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นนับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ วันที่ 9 พ.ย. จนถึงการประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ก็ใช้เวลาประมาณ 10 วันก็สรุปเรื่องได้

เมื่อถามว่า จากการพิจารณาทั้งหมดสรุปว่า เข้าข่ายปฏิเสธการรักษาหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่เข้าข่ายปฏิเสธรักษา เพราะผู้ป่วยขอไปเอง และจากการดูกล้องวงจรปิดก็มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนที่ขอดูวงจรปิดนั้น เพื่อดูว่าสภาพของผู้ป่วยมาเป็นอย่างไร และไปอีกโรงพยาบาลสภาพเป็นอย่างไร เข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายไม่ทำตามมาตรฐาน ในการคัดกรองและแยกระดับอาการฉุกเฉิน รวมถึงการส่งต่อ ซึ่งจริงๆ จะมีโปรแกรมบันทึกอาการ และให้ข้อมูลเป็นเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้การตัดสินใจของแพทย์ง่ายขึ้นว่า ผู้ป่วยที่มานั้นอยู่ฉุกเฉินระดับใด ถ้าเป็นสีแดงคือฉุกเฉินวิกฤต ก็จะใช้สิทธิยูเซป ฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรกได้ กรณีไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ก็ต้องรักษาเบื้องต้นจนผู้ป่วยปลอดภัยและส่งต่อถ้าเกินศักยภาพ

เมื่อถามถึงการปิดห้องผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ขออนุญาต ทาง รพ.พระราม 2 มีการดำเนินการอะไรแล้วหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราให้แก้ไขภยใน 15 วัน ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจถูกพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มาขอแก้ไข แต่หากมาขอก็จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นตามมาตรฐานสถานพยาบาลหรือไม่ หากเป็นตามมาตรฐานก็จะเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการสถานพยาบาล ซึ่งจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นกับการตรวจสอบสถานที่ ส่วนบางอย่างที่ทำไม่ได้มาตรฐาน เช่น การส่งต่อ ก็มีคำสั่งทางปกครองให้แก้ไขภายใน 15 วัน กรณีอื่นก็ต้องช่วยเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิด


กำลังโหลดความคิดเห็น