เลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างไรดี? ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเกิดความกังวลใจ เพราะความมุ่งหวังให้ลูกได้เริ่มต้นเข้าโรงเรียนที่มีสังคมที่ดีและมีคุณภาพ แต่ว่าการเลือกโรงเรียนให้กับลูกในวัยก่อนเข้าเรียนนั้นยากยิ่งกว่า สำหรับประเทศไทยแล้วโรงเรียนต่างๆ ก็มีตัวเลือกมากมายให้คุณพ่อคุณแม่ได้ปวดหัวกันไม่ใช่น้อย แล้วแบบนี้จะมีหลักในการเลือกอย่างไร
พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่าการเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยของลูกนั้น ควรพิจารณาตามช่วงอายุ โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก คือ กลุ่มอายุก่อนเข้าวัยเรียนหรือวัยอนุบาล (Pre-School Age) และช่วงที่สองคือกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน (School Age) ซึ่งหมายถึงเด็กที่เรียนชั้นป.1 ขึ้นไป สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาลนั้นจะเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้งานวิจัยพบว่า หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีคุณภาพ (High Quality Day Care) จะทำให้เด็กมีทักษะทางด้านความคิด ภาษา และสังคมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาว่าโรงเรียนหรือสถาบันใดมีคุณภาพนั้นมีหลักการอยู่ 3 ข้อคือ
1.คุณภาพของครูผู้สอนู พิจารณาได้จากสัดส่วนของครูต่อเด็กและจำนวนเด็กในกลุ่ม เช่น เด็กอายุประมาณ 2-3ขวบ ควรเป็นสัดส่วนคุณครู 1 คนต่อเด็ก 4-5 คน โดยขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน 10 คน เด็กวัย 3-4 ขวบ ควรมีคุณครู 1 คนต่อเด็ก 6-7 คน และเด็กในกลุ่มไม่ควรเกิน 14 คน เป็นต้น นอกจากนี้ควรพิจารณาวุฒิการศึกษาของคุณครูร่วมด้วย หากคุณครูผู้สอนเรียนจบด้านเด็กปฐมวัยมาโดยตรงและมีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก รวมทั้งมีการอัพเดทความรู้อย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งเพิ่มคุณภาพการเรียนมากขึ้น อีกทั้งการไม่เปลี่ยนครูผู้สอนบ่อยๆ ก็จะทำให้คุณครูคุ้นเคยและเข้าใจเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
2.นโยบายของโรงเรียนในเรื่องความสะอาดและการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น มีการทำความสะอาดของเล่นอยู่เป็นประจำ และสอนให้เด็กล้างมือก่อน/หลังการรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จทุกครั้ง มีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของของเล่นที่นำมาให้เด็กเล่น หรือความปลอดภัยของบริเวณที่เด็กเล่นควรมีความอ่อนนุ่มเหมาะสมต่อการรองรับหากเกิดการพลัดตกหกล้มระหว่างที่เด็กเล่น นอกจากนี้โรงเรียนควรมีแผนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีขั้นตอนในการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยไปสู่เด็กอื่นๆ
และ 3.กิจกรรมหรือหลักสูตรของโรงเรียนควรมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆตามช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย ด้านที่หนึ่ง คือ ทักษะความสมบูรณ์ของร่างกาย ควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นและฝึกการทรงตัว รวมทั้งมีการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็กควบคู่กันไปด้วย ด้านที่สอง คือ การเสริมสร้างพัฒนาการ ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะด้านสังคม เช่น การวางแผน การทำตามกฎ การแบ่งปัน รวมทั้งการเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
นอกจากนี้ ควรฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองและช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเรียนและเป็นการพัฒนาตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นควรมีความเป็นตัวของตัวเองและอยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยลง ด้านที่สามคือสมาธิและความจดจ่อ ควรส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจกรรมให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป โดยตัดสิ่งเร้ารอบข้างที่ไม่จำเป็นออกไปได้
ด้านสุดท้ายคือทักษะก่อนเข้าวัยเรียน (Pre-Academic Skills) จากงานวิจัยพบว่าหากฝึกทักษะเหล่านี้ก่อนถึงวัยเรียนจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคตได้ดีขึ้น เช่น การรู้จักตัวอักษร รู้จักเสียงของตัวอักษร(Phonics) และทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ การนับจำนวน เป็นต้น ทั้งนี้ หลักในการพิจารณาเลือกโรงเรียนเหล่านี้ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อจัดการเรียนในรูปแบบ Home School ได้เช่นกัน
นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การเลือกโรงเรียนให้ลูกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะทางยุโรปหรืออเมริกา ส่วนของไทยเรามีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า สำหรับเด็กเล็ก พื้นฐานการเรียนมาจากการเล่น ดังนั้นที่ใดก็ตามที่เด็กเข้าไปแล้วเกิดความเคร่งเครียด ก็จะทำให้เรียนรู้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รากฐานความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจระหว่างครูกับเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการเลือกครูที่มีทัศนคติที่ดีกับเด็กจึงมีความจำเป็น การศึกษาปฐมวัยในไทยจะมีแนวทางใหญ่ๆ อยู่ 2 แนว
แนวแรกจะเป็นแนววิชาการ ที่มุ่งเน้นเนื้อหาสาระต่างๆ เพื่อเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้าในร.ร.ที่มีชื่อเสียงในชั้นประถม 1 ที่พ่อแม่ต้องการได้ ส่วนแนวที่สองจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และการเตรียมความพร้อมของเด็ก มากกว่าที่จะเน้นแต่เพียงเนื้อหาทางวิชาการอย่างเดียว แนวทางนี้ก็มีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่(Montessori) เป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งในเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ มอสเตสซอรี่จะเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และเห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ครูไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ แต่ครูเป็นผู้เกื้อหนุนและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก
คอนเซ็ปต์ของการจัดการเรียนแบบมอนเตสซอรี่เป็นแบบ Organized life คือ การจัดวางระบบระเบียบในชีวิต มอนเตสซอรี่ไม่เน้นเรื่องการฝึกเล่นมากนัก แต่ว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เบี่ยงเบนไปทางอื่น เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องใส่ตามร่องตามมุมให้ถูกที่ ถ้าใส่ไม่ถูกที่ก็จะไม่ออกมาเป็นจิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์ได้ นอกจากนี้ยังเน้นการสอนในรูปแบบที่ให้เด็กพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตจริง เช่น การล้างมือ การรับประทานอาหาร ฯลฯ โดยโรงเรียนในแนวนี้จะจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพึ่งพาตนเองของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่างล้างมือหรือโต๊ะอาหารที่มีขนาดและความสูงพอเหมาะกับเด็กเล็ก
มอนเตสซอรี่ที่แท้จริงจะมีการจัดคลาสให้เด็กหลายช่วงอายุอยู่ในห้องเรียนเดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เด็กโตจะมีความเป็นผู้นำคอยช่วยเหลือน้อง เด็กเล็กเองก็จะมีการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากพี่ที่โตกว่า ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งที่เด็กจะเรียนรู้จากเด็กด้วยกันเองได้ดีกว่าเรียนรู้จากผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ
นอกจากมอนเตสซอรี่ ยังมีโรงเรียนทางเลือกในรูปแบบอื่นอีกหลายแบบ เช่น โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ซึ่งมีแนวคิดมาจากมนุษย์ปรัชญา วิธีการจัดการศึกษาจะเน้นในเรื่องความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ผู้คน สังคม เพื่อให้รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลกนี้ และเน้นเรื่องการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงในตัวตน โดยจะไม่อ้างอิงค่านิยมของสังคมหรือการตลาดมากนัก เด็กในระดับก่อนประถมวัยจะเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับการเล่นโดยมีคุณครูเป็นผู้ดูแล ส่วนการศึกษาด้านวิชาการจะเริ่มในเด็กระดับประถมศึกษาขึ้นไป
และสุดท้ายการจัดการเรียนในแนวทางเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบ Co-constructivism ที่เชื่อว่าเด็กเรียนรู้โดยผ่านการลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ภายใต้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม จนนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวที่สนใจ แล้วมีการนำเสนอความคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านทางสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวาด ปั้น ดัดลวด ระบายสี ภาพถ่าย แม้กระทั่งดนตรี เพลง และการเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ จุดเด่นคือ แนวการเรียนจะไม่มีการวางหลักสูตรเนื้อหาที่ตายตัว แต่ขึ้นกับว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องใด แล้วครูจะเป็นผู้ร่วมค้นหาคำตอบด้วยกันกับเด็ก เสมือนหนึ่งเป็นผู้ร่วมทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ให้ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียนนั่นเอง
พญ.มัณฑนา กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับเด็กก่อนเข้าวัยเรียนคือ”การเล่น” เด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น โดยผู้ใหญ่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะผู้ใหญ่สามารถต่อยอดทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นและกว้างขึ้น นอกจากนี้การเลือกของเล่นให้กับลูก ควรเป็นของเล่นที่เหมาะสมตามวัยและมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น เด็กในช่วง1 ขวบปีแรก ควรเน้นเรื่องของประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น หนังสือภาพ ลูกบอลนิ่มๆ หรือของเล่นที่เมื่อกดแล้วมีการตอบสนองกับผู้เล่นโดยอาจมีเสียงหรือมีตุ๊กตาโผล่ขึ้นมา เป็นต้น สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย เช่น เด็กวัย 2 ขวบ ควรเลือกของเล่นประเภทเสริมทักษะด้านต่างๆ อาทิของเล่นที่ส่งเสริมด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและด้านความคิด เช่น การหยอดกระดุมสีต่างๆลงกระปุกเจาะรูคล้ายการหยอดเหรียญลงกระปุกออมสิน การเรียงห่วงยางขนาดต่างๆลงในแท่งไม้ หรือการใส่ก้อนไม้รูปทรงเลขาคณิตต่างๆลงในช่อง เป็นต้น
นอกจากการเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามวัยแล้วผู้ปกครองควรเลือกของเล่นที่สามารถใช้ได้ระยะยาวและหลากหลายอัตถะประโยชน์ด้วย โดยส่วนมากผู้ปกครองมักซื้อของเล่นให้ลูกเป็นจำนวนมากและเก็บรวมๆกัน ทำให้เด็กเล่นของเล่นหลายอันในเวลาเดียวกันแต่เล่นไม่เสร็จเลยสักอัน และในที่สุดจะทำให้กลายเป็นเด็กจับจดและขาดวินัยได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรส่งเสริมความเป็นระเบียบและทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเล่นของเล่นเป็นชิ้นๆให้เสร็จสมบูรณ์ได้โดยการจัดพื้นที่ของเล่นในบ้าน เช่น จัดเป็นมุมต่างๆ อาทิ มุมอ่านหนังสือ มุมของเล่นเพื่อสร้างจินตนาการ มุมของเล่นเพื่อพัฒนาการกล้ามเนื้อ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ผู้ปกครองอาจดูว่าตอนนี้ลูกกำลังเรียนหรือเล่นอะไรที่โรงเรียนแล้วจัดการเล่นหรือทำกิจกรรมเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันที่บ้าน เพื่อสร้างความต่อเนื่องเนื่องและเป็นการต่อยอดความคิดและทักษะด้านนั้นๆ ได้อีกด้วย ส่วนการพาเด็กๆ ไปเล่นตามบ้านบอลในห้างสรรพสินค้านั้น สิ่งที่ต้องระวังคือความสะอาดและการติดโรคระบาดต่างๆ ในเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งผู้ปกครองควรให้ความสำคัญอย่างมาก