xs
xsm
sm
md
lg

“อธิการบดี TNI” ชี้ปริญญาบัตรไม่สำคัญเท่าทำงานได้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) มอบปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2560 สร้างบัณฑิต “MONOZUKURI” เก่งทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทักษะภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น ทำให้ส่วนใหญ่ได้งานทำหรือได้ทุนไปเรียนต่อก่อนวันรับปริญญา บัณฑิตป้ายแดงหลายคนลงทุนเดินทางกลับจากญี่ปุ่นมารับปริญญาบัตร ที่จัดขึ้นเมื่อ 11 พ.ย. 2561 ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

รศ.ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ กล่าวว่า ใบปริญญาบัตรไม่สำคัญเท่ากับสามารถทำงานได้จริง ดังนั้น บัณฑิตของ TNI จึงเป็นทั้งนักคิด นักปฏิบัติ นักประดิษฐ์ และนักบริหาร อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2560 นี้ อธิการบดีขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตและมหาบัณฑิตทุกคน และขอให้เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นและขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ สามารถสร้างประโยชน์เพิ่มมากขึ้นตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อตนเองและครอบครัวตลอดจนสังคมโดยรวม

พร้อมมอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ “รศ.พูลพร แสงบางปลา” ปูชนียบุคคลของวงการยานยนต์ คณบดีคนแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ TNI

รศ.พูลพร แสงบางปลา ปัจจุบันอายุ 81 ปี ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่างๆ อาทิ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย (TSAE) ,นายกสมาคมวิศวกรหญิงไทยและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมมาตรฐานและคุณภาพแห่งประเทศไทย ,ประธานกรรมการสาขายานยนต์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในด้านประสบการณ์การทำงานและการสร้างคุณูปการต่อสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น , ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการวิชาการ และที่ปรึกษาหลักสูตรทางไกล ม.ซันโน ของสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ,ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์คนแรกของสถาบันฯ โดยได้บริหารงานจนคณะวิศวกรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้าและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุที่สถาบันฯ คือ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ปี 2555-2559 จากผลงานและประสบการณ์ทำงานอันยาวนาน รางวัลเชิดชูเกียรติที่ได้รับ และผลจากการอุทิศทุ่มเท เพื่อถ่ายทอดความรู้ความชำนาญเพื่อพัฒนาคนและความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย รศ.พูลพร จึงถือเป็นบุคคล ที่มีบทบาทและมีคุณูปการทั้งในฐานะครูผู้อุทิศตน เพื่อสร้างบัณฑิตด้านวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมยานยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม

น.ส.เอมอร จันทบูลย์ มหาบัณฑิตเกียรตินิยมเหรียญทอง สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น (MBA-MBJ)
.... เล่าว่าหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว มีความตั้งใจว่าอยากเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ และอยากทำงานในบริษัทญี่ปุ่น จึงได้ค้นหาข้อมูลของสถาบันการศึกษาต่างๆ และคิดว่า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI คือสถาบันที่ตอบโจทย์ เพราะที่นี่ มีการจัดการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ สไตล์ญี่ปุ่น และสามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย เมื่อเข้ามาเรียนที่นี่จริงๆ ก็ได้เรียนรู้อย่างรอบด้านทั้งภาคทฤษฏี การได้ลงมือปฎิบัติจริง ได้รับความรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา อีกทั้งได้เรียนภาษาญี่ปุ่นจากอาจารย์เจ้าของภาษา ทำให้เมื่อจบการศึกษาออกมา ได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้จริงในการทำงาน เพิ่มโอกาสในการเติบโตจากสายงานที่ทำอยู่

“ปัจจุบัน น.ส.เอมอร ทำงานอยู่ที่ บริษัท ฮิตาชิ ไฮ-เทค อมตะ สมาร์ท เซอร์วิสเซส จำกัด โดยนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาปรับใช้ โดยเฉพาะการจัดการด้านการบริหารต่างๆ เช่น การจัดการด้านบัญชี การเงิน การนำภาษาญี่ปุ่นมาใช้ในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี , มีความเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นที่มีความเป็นระเบียบวินัย ตรงต่อเวลาและมีความรับผิดชอบสูงมาก ทำให้การทำงานมีความราบรื่น

“การได้มาทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เป็นโอกาสที่ดีของเรามากๆ อยากให้ทุกคนที่กำลังมองหาสถาบันการศึกษาที่ให้ทั้งความรู้ ทักษะภาษาญี่ปุ่น และการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา รวมถึงทักษะรอบด้านทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ลองศึกษาหาข้อมูลหรือสอบถามมายัง TNI ได้ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่จบเพียงในห้องเรียนแต่ต้องนำไปสู่การทำงานได้เป็นอย่างดี และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นแห่งนี้ ก็ตอบโจทย์ความต้องการทุกด้าน ขอขอบคุณที่คณาจารย์ เพื่อนๆ TNI ที่ทำให้เรามีโอกาสมากมาย มีความรู้ ทักษะที่นำไปสู่การพัฒนาชีวิตได้ดียิ่งขึ้น” น.ส.เอมอร กล่าว

นายศุภโชค เกียรติกิติกูล
บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสอง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)

.....กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และชอบดูการ์ตูนฟังเพลงที่เป็นภาษาญี่ปุ่น จึงตัดสินใจเรียนด้านนี้ที่ TNI

เนื้อหาที่เรียนครอบคลุมเกี่ยวกับ IT ตั้งแต่การเขียนโปรแกรม เน็ตเวิร์ค เขียนเว็บ ฯลฯ ผ่านการเรียนที่สนุกสนาน ไม่เครียด เพราะเป็นสาขาที่ชอบ จึงเรียนอย่างมีความสุขและที่สำคัญนอกจากจะได้เรียนสิ่งที่ถนัดแล้ว ยังได้เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาหลัก อีกทั้งได้โอกาสในการเข้าร่วมโครงการ 5 ปี 2 ปริญญา (ตรีควบโท) โดยในช่วงปีที่ 4 ได้รับทุนไปทำวิจัยที่ National Institute of Technology, Tsuruoka College ประเทศญี่ปุ่น 1 ปี ทำให้ได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยมีรางวัลเหรียญเงินนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 (ผลงานหุ่นไล่กาอัจฉริยะ 4.0) ที่ศุภโชคและเพื่อนๆ พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเครื่องการันตีประสบการณ์ที่จะนำทางสู่การทำงานที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

“TNI มีทั้งทุนและความสัมพันธ์อันดีกับทางญี่ปุ่นเยอะมาก เชื่อว่าหลายคนที่เรียนที่นี่ จะมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นมากกว่าที่อื่นแน่นอน”นายศุภโชค กล่าว

*****************************************

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI)
1771/1 ถนนพัฒนาการ (ระหว่างซอยพัฒนาการ 37-39) แขวง/เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
Tel: 02-763-2600 www.tni.ac.th
Facebook: Thai-Nichi Institute of Technology


กำลังโหลดความคิดเห็น