กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 4 โรค 3 ภัยสุขภาพช่วงฤดูหนาวปีนี้ ห่วงป่วยด้วยโรคหัด ปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ และอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้น เด็กเล็ก ผู้สูงวัย มีโรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะดูแลสุขภาพให้ดี ป้องกันตายจากภัยหนาว สูดดมก๊าซพิษจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และอุบัติเหตุจากหมอกจัด
วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว อากาศที่หนาวเย็นทำให้เชื้อโรคบางชนิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น แพร่กระจายง่ายและเร็วกว่าฤดูอื่น กรมฯ จึงออกประกาศ เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคติดต่อ ได้แก่ 1. โรคหัด อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัด มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ บางรายมีตาแดง ถ่ายเหลว มีจุดขาวๆ เล็กๆ ที่กระพุ้งแก้ม หลังมีไข้ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นมักเริ่มจากใบหน้า ส่วนใหญ่ผื่นจะจางหายไปเองใน 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและสมองอักเสบได้ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน 2. โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม เกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาการรุนแรงมักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ เป็นต้น ความรุนแรงจะแตกต่างกันในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อายุ และสุขภาพ การป้องกัน คือหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่แออัด ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
3. โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ป่วยได้ง่ายโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กจนถึงเด็กโต ผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่แออัดหรืออยู่รวมกันหนาแน่น เช่น เรือนจำ สถานศึกษา เป็นต้น ติดต่อจากการหายใจ อาการ คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการรุนแรงเกิดภาวะปอดบวมหรือสมองอักเสบได้ ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด มีมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วย หากพบผู้ป่วยให้หยุดเรียนหรือหยุดงาน และ 4. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ที่น่าห่วงคือ “โรตาไวรัส” ทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและเด็กเสียชีวิตได้ มักพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 1-3 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อาเจียน อุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำมาก บางรายรักษาไม่ทันอาจช็อกและเสียชีวิตได้ การรักษา คือ ให้ยาตามอาการ วิธีป้องกัน คือ ดูแลสุขอนามัยอาหารและน้ำ รับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ ถ่ายลงในภาชนะที่รองรับมิดชิด หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ เลี่ยงพาเด็กไปสถานที่แออัด
นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มภัยสุขภาพ ได้แก่ 1. การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ คนเร่ร่อน ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ดื่มสุราเพื่อคลายความหนาว ขอแนะนำว่าไม่ควรดื่มสุราและเสพของมึนเมา รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารมีประโยชน์ ให้ความอบอุ่นต่อร่างกายเพียงพอ ดูแลกลุ่มเสี่ยงอุณหภูมิร่างกายต่ำลงได้ง่าย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก คนพิการ เป็นต้น จัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสม สังเกตอาการผู้ป่วยหลังกินยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก เป็นต้น ที่มีผลต่ออุณหภูมิร่างกายต่ำลง รวมถึงผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ อาจเกิดอาการเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ง่าย 2. การสูดดมก๊าซพิษและขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จากการเดินทางไปเที่ยวตามยอดดอย ภูเขา และพักผ่อนตามรีสอร์ท ที่ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สแทนระบบไฟฟ้า ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หากสูดดมเข้าไปมากและนาน จะมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ ขอให้ตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งาน ไม่ควรอาบน้ำนาน เว้นระยะเวลา 15-20 นาที ให้อากาศระบายออก หากมีอาการผิดปกติ ได้กลิ่นแก๊ส ควรออกจากห้องน้ำทันที
และ 3. การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด แนะผู้ใช้รถใช้ถนนให้ตรวจสอบสภาพอากาศและเส้นทางก่อนเดินทาง หากทัศนะวิสัยไม่ดี หมอกลงจัด ไม่ควรเดินทาง หรือขับด้วยความระมัดระวัง เปิดไฟหน้าช่วงที่มีหมอกลงจัด พักผ่อนให้เพียงพอก่อนขับทางไกล ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ (เบรก ยาง ล้อ) ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและพร้อมใช้งาน และปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ดื่มสุรา ไม่ขับเร็ว สวมเข็มขัด และหมวกนิรภัยทุกครั้ง หากไม่ชำนาญเพียงพอไม่ควรขับทางไกลหรือเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ทั้งนี้ คร.ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ 1. การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2. การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3. การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน