xs
xsm
sm
md
lg

กก.สภามหา'ลัย "ลาออก"ปมยื่นทรัพย์สิน ทำจริงไม่ใช่แค่ขู่!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากกระแส (เสียง) คัดค้านของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ส่งสัญญาณพร้อมพาเหรดยื่นลาออกจากตำแหน่ง ว่ากันว่า มีมากกว่า 100 ราย เพราะไม่สะดวกใจ และไม่อยากวุ่นวาย กับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. อีกทั้งการยื่นไม่ใช่แค่ของเจ้าตัว แต่ในกฎหมายครอบคลุมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

ความปั่นป่วนเกิดขึ้นในแวดวงอุดมศึกษาทันที เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งมีเสียงลอดรั้วออกมาจะออกยกชุด!! ซึ่งประกาศครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจากทุกกลุ่มทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มรภ.ทปอ.มทร. และอธิการบดีม.ในกำกับรัฐ มิอาจนิ่งเฉยนัดถกนานกว่า 2 ชั่วโมงจนได้มติร่วมกัน ขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายกสภาฯและกรรมการสภาฯพร้อมทำหนังสือถึงป.ป.ช.แจ้งมติดังกล่าว

.."นายกฯ และกรรมการสภาฯทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ กรรมการสภาฯไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช." คือเหตุผลสำคัญที่ ศ.ดร.สุขัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในฐานะประธานทปอ.อธิบาย ท่ามกลางเหล่าผู้บริหารที่อยู่ร่วมฟังจนจบ

ยังบอกอีกว่า "การยื่นบัญชีทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาล แต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ ดังนั้น หากยื่นบัญชีผิดพลาด แม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายก และกรรมการสภาบางแห่ง ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว"

ถ้ามีการลาออกเกิดขึ้นจะส่งผลให้ สภามหาวิทยาลัยไม่ครบองค์ประชุม อาจจะทำให้เกิดสุญญากาศในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย !!

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรี "นายวิษณุ เครืองาม" ถกร่วมนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช.เบื้องต้นแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คือ “การขยายระยะเวลา” การยื่นบัญชีของนายกสภาฯและกรรมการสภาฯออกไป ยังต้องหารือเรื่องต่อคณะกรรมการการป.ป.ช.ก่อนในสัปดาห์นี้ แต่ทุกอย่างต้องจบก่อนวันที่ 2 ธ.ค.ที่ประกาศป.ป.ช.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ขณะที่มีข้อเสนอว่าให้ออกกฎหมายพิเศษ (มาตรา44) มาแก้แต่แนวทางนี้ดูไม่ผ่านการตอบรับเท่าใดนัก

ว่ากันว่า การตีความที่เคร่งครัดเกินไปในกรณีนี้ก็อาจทำให้มหาวิทยาเสียโอกาส เพราะมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญและถนัดในงานวิชาการ บางครั้งยังขาดมุมมองในภาคเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศซึ่งการที่มีกรรมการจากภาคเอกชนเข้ามาจะช่วยให้การจัดการการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์กรณีนี้จึงบอร์ดการศึกษาจึงต่างบอร์ดจากภาครัฐวิสาหกิจ

แต่ทว่า นัยยะของอำนาจการบริหารงานก็อาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในการอนุมัติการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย การอนุมัติแต่งตั้ง/ถอดถอนบุคลากร เสียงสนับสนุนให้ป.ป.ช.เดินหน้าตามกฎหมายก็ดังไม่แพ้เสียงค้าน ล่าสุด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรรมการสภาฯล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ก็ปรากฎในข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่ามีบางมหาวิทยาลัยที่มีการทุจริต เกื้อหนุนเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภาฯ โดยเฉพาะตัวนายกสภาฯสร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน ตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมายสร้างมาตรการมากมายมาควบคุม

เช่นเดียวกับ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงป.ป.ช.สนับสนุนเพราะถือเป็นการสร้างธรรมาภิบาลในระบบบริหารงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ต้องแสดงความโปร่งใส เนื่องจากเป็นตำเเหน่งที่มีเชิญให้เข้ามาทำหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะให้มาละเว้นไม่ได้ และเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมายังได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการยื่นบัญชีกรรมการสภาฯด้วย

ขณะที่ นายอภิชาต จีระวุฒิ นายกสภา มรภ.อยุธยา กล่าวว่า ด้วยประกาศป.ป.ช.ฉบับนี้ค่อนข้างล้วงลึกในการแจกแจงข้อมูล ประกอบกับระยะเวลาที่กฎหมายจะบังคับใช้วันที่ 2 ธ.ค.จึงเหลือเวลาไม่นาน ส่วนตัวไม่มีปัญหาเพราะในอดีตรับราชการก็เคยยื่นบัญชีทรัพย์มาแล้วครั้งนี้เพียงแค่ทำเอกสารเพิ่มเติม แต่ก็เข้าใจในส่วนของกรรมการสภาฯจากภาคเอกชน ค่อนข้างลำบาก บางคนก็ไม่มีเวลาในการเตรียมเอกสาร บางคนถือหุ้นทั้งในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน เอกสารที่อาจต้องมี 100% ก็มีอยู่ 80% กว่าจะรวบรวมให้ครบถ้วนตรงนี้เขาลำบาก

ทั้งนี้ กรรมการสภามรภ.อยุธยา จากภาคเอกชนมี 2 ราย คือ นายดำรง พุฒตาล และนายปราจิน เอี่ยมลำเนา ซึ่งที่ผ่านมา นายดำรง ก็เป็นบุคคลแรกๆที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว ส่วนจะมีใครลาออกหรือไม่ตนยังไม่สามารถตอบได้ แต่ในการประชุมสภามรภ.อยุธยา สัปดาห์นี้จะนำเรื่องประกาศป.ป.ช.เข้าสู่การหารือด้วย เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วก็คงจะได้ทราบแน่ชัดถึงการตัดสินใจ

ฟาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กำลังรอดูท่าทีของทาง ป.ป.ช.ว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่สุดถ้าไม่มีการแก้ไขที่เหมาะสมตนก็จะทำหนังสือถึงนายกสภา มธ.แจ้งขอลาออกจากการเป็นกรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ การที่ป.ป.ช.มีประกาศนี้ออกมาและให้บังคับใช้ครอบคลุมผู้บริหารระดับสูง ยังตีความที่กว้างเกินไป และไม่มีการสอบถามให้ชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ ซึ่งการให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กับกลุ่มผู้มีหน้าที่บริหาร มีอำนาจหรือเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างก็มองว่าสมเหตุสมผล แต่กรรมการสภาฯจริงอยู่ว่าการเปิดหรือไม่เปิดไม่ได้มีผลอะไร เพราะไม่มีหน้าที่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เรามีหน้าที่ดูแลกำกับให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด อยู่ดี เพราะมหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน

"ประกาศนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วน และอาจส่งผลเสียต่อการบริหารงานองมหาวิทยาลัย ที่กรรมการสภาฯบอกว่าจะลาออกไม่ใช่การขู่แต่พร้อมทำจริง ผมเองที่สุดถ้าดูว่าการแก้ไขปัญหาไม่ลงตัวก็ลาออกแน่นอน เพราะการยื่นบัญชีมีกระบวนการที่ยุ่งยากมาก ตัวผมก็เคยยื่นมาก่อนก็ทราบดี เอกสาร ข้อมูลที่ต้องกรอกมีมาก เราไม่ได้กลัวการเปิดเผยแต่กลัวจะตกหล่นว่ายื่นไม่ครบ กรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิส่วนมากอายุเยอะอาจจะมีหลงลืม บางคนอาจจะแยกกับครอบครัวการติดตามเอกสารข้อมูลก็ยาก หรือพบไม่ได้ยื่นก็เป็นเรื่องถึงคดีอาญา ทั้งที่แค่หลงลืมไม่มีเจตนาไม่ยื่น ตรงนี้ยังเป็นการเปิดช่องที่ทำให้เกิดการร้องเรียน เพราะไม่ว่าคนไหนจะยื่นครบ หรือหลงลืมยื่นไม่ครบแต่มีคนไปร้องป.ป.ช.ก็ต้องเรียกสอบหมด ป.ป.ช.จะมีเรื่องร้องเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนและดูให้รอบคอบ"รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

บทสรุปเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะใช้เส้นทางไหนอีกไม่นานคงได้รู้.


กำลังโหลดความคิดเห็น