xs
xsm
sm
md
lg

ตายจาก “โรคหัด” แล้ว 15 ราย ชายแดนใต้ป่วยสูงสุด ย้ำ รับวัคซีนให้ครบ ฤดูหนาวยิ่งเสี่ยงอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองพาลูกหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด หลังพบระบาดหนักในพื้นที่ชายแดนใต้ ห่วงเข้าฤดูหนาว ยิ่งเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย เผย ป่วยแล้วทั่วประเทศกว่า 4 พันราย ตาย 15 ราย

วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัดที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้ คือ โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบได้บ่อยในทุกช่วงวัย โดยเชื้อไวรัสหัดสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย ผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และละอองอากาศ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม และพูดคุย ในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้อไวรัสหัดอาศัยอยู่ในลำคอ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคหัด ในปี 2561 จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-7 พฤศจิกายน 2561 มีรายงานผู้ป่วย 4,030 ราย เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งในกลุ่มผู้เสียชีวิตนั้น จำแนกเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 8 ราย และผู้ป่วยเข้าข่ายแต่อยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 7 ราย โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ยะลา ปัตตานี สงขลา และ นราธิวาส ตามลำดับ

“โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ “ไข้ออกผื่น” โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมาก อาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากป่วยด้วยโรคหัด หรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา ทั้งนี้ โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนทันทีได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง และยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กเล็ก เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ


กำลังโหลดความคิดเห็น