xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ เตรียมเสนอ 4 ข้อ ปลดล็อก “กัญชา” พรุ่งนี้ ต้องไม่ตัดโอกาสผู้ป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หมอธีระวัฒน์” เตรียมเสนอ คกก.ยาเสพติดปลดล็อก “กัญชา” 4 ข้อ ย้ำ ผลิตภัณฑ์ต้องปลอดภัย สารสกัดกัญชาไม่ผ่านมาตรฐานสากล ผู้ป่วยต้องจ่ายเอง แบ่งระดับหมอในการใช้รักษาโรค และต้องเพิ่มข้อบ่งใช้ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย จาก 4 กลุ่มโรค ชี้ หากไม่เปิดช่อง เป็นการปิดกั้นโอกาสผู้ป่วย

วันนี้ (8 พ.ย.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีความเห็นร่วมกัน 4 ข้อ และจะเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่จะประชุมในวันที่ 9 พ.ย.นี้ โดยให้ตั้งกรอบเพิ่มเติมจากการยกระดับกัญชา ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องปลอดภัยที่สุด ต้องระวังเรื่องการปนเปื้อน เนื่องจากปัจจุบันมีประเด็นยาฆ่าหญ้า สารเคมีปนเปื้อนจำนวนมาก 2. แม้สารสกัดกัญชาจะไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล (Approved Products) แต่กรณีน้ำมันกัญชาให้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ รับรอง ก็สามารถใช้กับผู้ป่วยได้ แต่กรณีสารสกัดกัญชาที่ไม่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล ในต่างประเทศ ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง ไม่สามารถเปิดประกันได้ 3. ถ้ามีการใช้ ต้องแบ่งผู้ใช้ออกเป็นระดับต่างๆ คือ แพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งอายุรแพทย์ สมอง มะเร็ง ส่วนหมอทั่วไปสามารถใช้ได้ตามข้อบ่งใช้ที่กำหนด และ 4. ข้อบ่งใช้อยากให้เพิ่มว่า ต้องเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและให้เป็นตัวควบรวมกับแพทย์แผนปัจจุบัน

“ประเด็นนี้ทางคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในแนวเดียวกับตนมากนัก เพราะยังยืนยันว่า ข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์มี 4 ข้อ และมีข้อจำกัดอยู่ คือ 1. ลดอาการเกร็งจากโรคปลอกหุ้มประสาทอักเสบ 2. อาเจียนจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง 3. ลมชักในเด็กที่ใช้ยา 2 ชนิดแล้วไม่ได้ผล และ 4. ปวดทรมาน ซึ่งเมื่อจำกัดแบบนี้ก็จะทำให้ช่วยผู้ป่วยเพียงพันกว่าคนเท่านั้น จากข้อเท็จจริงมีเป็นแสนๆ คน แทนที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพกลับไปจำกัดเสียเอง ซึ่งผมมองว่าในการประชุมพรุ่งนี้ต้องไม่จำกัด เพราะด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ผู้ป่วยจะไม่ได้ประโยชน์มาก อย่างข้อบ่งชี้ข้อที่ 1 และ 2 จะมีแค่พันคน เพราะไปจำกัดว่า อาการเกร็งจากโรคปลอดหุ้มประสาทอักเสบ และอาการข้างเคียงจากมะเร็ง ซึ่งไม่ได้มีแค่อาเจียน แต่ยังมีเบื่ออาหารอีก หรือหรือลมชักในเด็ก จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อใช้ยาตัวอื่นไม่ได้ผล ทำให้ตัดโอกาสในการคุมโรคให้นานออกไปอีก หรือปวดทรมาน ถามว่าเราต้องรอให้คนไข้ทรมานขนาดไหนถึงมีโอกาสได้ใช้ยาลดความทรมาน แทนที่จะเปิดกว้าง เพราะโรคลมชักรวมผู้ใหญ่ก็เป็นแสนคน ภาวะแข็งเกร็งโดยรวมมีเป็นหมื่นคน และอาการข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ใช่แค่อาเจียนมีอีกเป็นแสนๆ คน เจ็บปวดทรมานอีก นี่คือตัดโอกาสผู้ป่วยรายอื่นไปหมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ที่สำคัญ ยังไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประเทศเลย อย่างกรณียาแก้ปวด ประเทศไทยนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ 2,088 ล้านบาท หรือยาอื่นๆ อย่างยากลุ่มจิตเวชเฉลี่ยปีละ 1,712 ล้านบาท ยาลดอาการซึมเศร้า 1,609 ล้านบาท ยาพาร์กินสัน 1,230 ล้านบาท ยาโรคสมองเสื่อม 2,490 ล้านบาท เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายจะเพิ่มราคาไปอีก 3-10 เท่า แบบนี้ไม่ได้ช่วยลดภาระด้านงบประมาณของประเทศเลย จึงต้องฝากคณะกรรมการที่จะพิจารณาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ด้วย ให้เห็นประโยชน์ภาพรวมทั้งหมด เพราะถ้าสุดท้ายจำกัดสิทธิการใช้เช่นนี้ คงมีการเคลื่อนไหวจากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการพูดคุยกัน ทางเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งอยู่ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร หากจำกัดสิทธิเหมือนเดิม คาดกันว่า จะรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความทุกข์ของผู้ป่วยแน่นอน ดังนั้น ขอย้ำว่า กัญชาที่จะปลดล็อกต้องเป็นผู้ช่วยพระเอกได้จริงๆ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่ได้บอกว่าต้องใช้กัญชาอย่างเดียว เพราะการแพทย์แผนปัจจุบัน ยาก็ยังต้องใช้ เพียงแต่ต้องควบคู่กัน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การประชุมวันที่ 9 พ.ย.ของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีทุกภาคส่วนเข้ามาหารือ ทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่เรื่องยกระดับสารสกัดจากกัญชาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาเป็นอย่างไรให้รอผลการประชุมก่อน ซึ่งต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษในวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ได้มอบให้ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัด สธ. เป็นประธานแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น