สธ.คลอดประกาศ 3 ฉบับ คือ สถานที่เขตปลอดบุหรี่ ลักษณะเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และหลักเกณฑ์แสดงข้อความบุหรี่ พบขยายพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ในสถานที่สาธารณะไปอีก 5 เมตร จากทางเข้าหรือรั้ว แก้ปัญหาคนยืนสูบหน้าสถานที่ ฝ่าฝืนโทษปรับ 5 พันบาท สัญลักษณ์ห้ามสูบไม่ตายตัวเหมือนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 ลงนามโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลในวันถัดไปหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้กำหนดสัญลักษณ์ของเขตปลอดบุหรี่ โดยกำหนดให้เป็นรูปวงกลมที่มีเส้นขอบหนาสีแดงและมีรูปมวนบุหรี่ซิกาแรตสีดำที่มีควัน ซึ่งมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนอยู่ภายในวงกลมนั้น โดยมีเส้นตรงสีแดงซึ่งมีความหนาของเส้นในขนาดเพียงพอให้เห็นได้ชัดเจน พาดทับรูปมวนบุหรี่ดังกล่าวในแนวเฉียง ส่วนสัญลักษณ์เขตสูบบุหรี่ เป็นรูปวงกลมที่มีเส้นขอบหนาสีฟ้าและมีรูปมวนบุหรี่ซิกาแรตสีดำที่มีควัน ซึ่งมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนอยู่ภายในวงกลมนั้น
ลักษณะเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ คือ 1. สติกเกอร์ แผ่นป้าย หรือวัสดุอื่นใดที่ใช้แสดงสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ต้องมีพื้นผิวพื้นหลัง หรือสีที่ทำให้มองเห็นสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ และข้อความได้อย่างชัดเจน 2. แสดงสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า 100 มิลลิเมตร 3. แสดงอักษรข้อความที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนเป็นภาษาไทยว่า “ห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมาย” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “No smoking. It is against the law to smoke in this area” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน 4. เครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ที่ใช้ติดแสดงในยานพาหนะสาธารณะ ต้องมีการแสดงสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของขนาดสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ โดยจะแสดงอักษรข้อความด้วยหรือไม่ก็ได้
เครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ที่จะใช้ติดแสดง ณ สถานที่สาธารณะ เฉพาะบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ระยะห่างจากประตู หน้าต่าง ทางเข้า ทางออก ท่อหรือช่องระบายอากาศ หรือพื้นที่โดยรอบ เป็นเขตปลอดบุหรี่ด้วย ต้องมีอักษรข้อความที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเป็นภาษาไทย ว่า “ห้ามสูบบุหรี่ ในระยะ 5 เมตร” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “No smoking within 5 meters” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าเขตปลอดบุหรี่ในบริเวณนั้นครอบคลุมถึงระยะห่างดังกล่าว
ทั้งนี้ กำหนดให้เครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ต้องติดแสดงในสถานที่ คือ 1. สถานที่สาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศ โดยกำหนดให้พื้นที่และบริเวณทั้งหมดซึ่งใช้ประกอบภารกิจของสถานที่นั้น ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตามเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยต้องติดโดยเปิดเผย มองเห็นชัดเจน มีจำนวนที่เหมาะสม 2.สถานที่สาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศ โดยกำหนดให้พื้นที่เฉพาะส่วนที่ระบุไว้ของสถานที่นั้น เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยต้องติดแสดงไว้โดยเปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน มีจำนวนที่เหมาะสม รวมถึงยานพาหนะที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ด้วย
สำหรับเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ต้องมีลักษณะ คือ 1. สติกเกอร์ แผ่นป้าย หรือวัสดุอื่นใดที่ใช้แสดงสัญลักษณ์เขตสูบบุหรี่ต้องมีพื้นผิว พื้นหลังหรือสีที่ทำให้มองเห็นสัญลักษณ์เขตสูบบุหรี่ และข้อความได้อย่างชัดเจน 2. แสดงสัญลักษณ์เขตสูบบุหรี่ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า 70 มิลลิเมตรและต้องไม่เกิน 100 มิลลิเมตร 3. แสดงอักษรข้อความที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนเป็นภาษาไทยว่า “เขตสูบบุหรี่” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “Smoking Area” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน โดยให้ติดแสดงเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ไว้โดยเปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน ภายในบริเวณที่จัดให้เป็นเขตสูบบุหรี่ หากมีทางเข้าอย่างชัดเจน ให้ติดแสดงเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ที่ทางเข้าเขตสูบบุหรี่ด้วย
เครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ที่ได้มีการติดแสดงไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับให้ได้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในครั้งนี้ มี 3 ฉบับ คือ 1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 2. ประกาศเรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 และ 3.ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงคำหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือจูงใจให้บริโภคในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ ยาเส้น หรือยาเส้นปรุง พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ 4 พฤษภาคม 2562
“ประกาศเหล่านี้ยึดตามเนื้อหากฎหมายเดิม เพียงแต่มีการปรับปรุงขึ้นให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ส่วนประเด็นที่หลายคนสนใจ คือ ประกาศเรื่องลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ฯ ซึ่งนอกจากจะกำหนดลักษณะรูปแบบของเครื่องหมายที่ไม่ได้กำหนดตายตัวมากเหมือนก่อน แต่จะเน้นว่าต้องมีโลโก้เส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร แต่ภายในโลโก้จะมีคำขวัญจังหวัดก็ได้ ไม่ได้ห้ามเหมือนอดีต ส่วนสถานที่สาธารณะก็เหมือนเดิม คือ โรงเรียน วัด ศาสนาสถาน สวนสาธารณะ เป็นต้น” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีคนร้องเรียนว่า อย่างโรงเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่ก็มายืนสูบหน้าประตูโรงเรียน ประตูวัด และยังทิ้งมวนบุหรี่เกลื่อนไปหมด ซึ่งเห็นแต่จับปรับไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม จึงมีการปรับปรุงอนุบัญญัติ โดยจากหน้าประตู หรือทางเข้าประตูรั้วไปอีกระยะทาง 5 เมตรจากทางเข้าออกนั้นๆ ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งเราไม่ได้อยากจับปรับ เราแค่ต้องการขอความร่วมมือเท่านั้น สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด แต่สามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่ในพื้นที่นอกอาคารโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้