xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งเจรจา ป.ป.ช.ทบทวนประกาศยื่นทรัพย์สิน หลังเอกชนตบเท้าลาออก กก.สภามหา'ลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หมอธี” เล็งเจรจา ป.ป.ช.ทบทวนหลังกรรมการสภามหาวิทยาลัยตบเท้าลาออก เหตุให้แจงบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่ ทปอ.มทร.เตรียมยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.7 พ.ย.นี้ ชี้หากไม่เร่งแก้ไขอาจเกิดสุญญากาศ ด้าน ประธานอุตสาหกรรมชี้ภาคเอกชน ไม่สะดวกใจ

ภายหลังประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าวกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แจงหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ส่งผลให้เกิดเสียงสะท้อนในลักษณะไม่เห็นด้วยและพบว่สมหาวิทยาลัยหลายแก่งกำลังจะประสบปัญหา กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกนั้น

วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เร็ว ๆนี้ ตนและศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ จะหารือกับป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน และขณะนี้ก็ทราบว่ามีภาคเอกชนที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย ในสถาบันอาชีวศึกษา มีปัญหาที่จะต้องเปิดเผยทรัพย์สินก็แสดงเจตจำนงจะยื่นลาออกกันจำนวนมาก ทั้งนี้ หากทบทวนไม่ได้ก็ต้องตั้งสติดูว่าจะทำอย่างไรต่อ อย่าเพิ่งให้ตนตอบเพราะการที่ป.ป.ช.ออกมาก็เป็นสิทธิ์ของเขา ตรงนี้ไปบังคับเขาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการศึกษา หากเรื่องนี้ไม่สามารถทบทวนได้จริงทิศทางตอนนี้ก็ชัดเจนว่า เราต้องเดินหน้าต่อเพียงแต่ถ้าภาคเอกชนยังอยู่ช่วยการศึกษาก็จะช่วยให้การเดินหน้าดีขึ้น

ขอให้ผมได้เจรจากับป.ป.ช.ก่อน ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์แล้วกลายเป็นเหมือนมาว่ากันเพราะก็ยังไม่รู้ว่า ป.ป.ช.คิดอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดคุยกันมาก่อน พอออกมาก็เลยทำให้เกิดปัญหา ซึ่งส่วนตัวมองว่าทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นเรื่องดี แต่การแสดงออกถึงความโปร่งใสสามารถแสดงได้หลายแบบ และอาจจะต้องดูด้วยว่าเช่นภาคเอกชนเข้ามามีอำนาจ หน้าที่อะไร ในฐานะอะไร ถ้าจะใช้มาตรฐานเดียวกันเรื่องนี้ ดังนั้น ต้องดูว่าจะทบทวนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีการอื่นหรือไม่ เช่นไปดูว่าต่างประเทศทำอย่างไร หรืออาจจะต้องลองสอบถามองค์การต่อต้านการคอรัปชัน ว่าวิธีการทำให้โปร่งใสนั้นใช้วิธีการประกาศทรัพย์สินหรือเปล่า ตรงนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านทุจริตคอรัปชันจะรู้เรื่องดี”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ผศ.ดร.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมทร. กล่าวว่า มทร. ทั้ง 9 แห่งได้หารือกันในเบื้องต้น และมีมติทำหนังสือ ขอให้ป.ป.ช.ทบทวนกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะยื่นให้ป.ป.ช.พิจารณาในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ขณะเดียวจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.มทร. ด้วย ทั้งนี้ มทร.เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ทำให้กรรมการในสภามหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของประเทศ และตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และกรรมการสภาไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินใดๆทั้งสิ้น หากกฎหมายนี้บังคับใช้จะทำให้สภาฯ เดือดร้อน

“ในส่วนของมทร.อีสาน ขณะนี้มีกรรมการสภาฯ ประมาณ 7-8 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกรรมการสภาฯ ทั้งหมด มีความกังวลและได้ยื่นความยื่นความจำนงขอลาออกแล้ว ดังนั้น หากไม่มีการทบทวนกฎหมายนี้ จะทำให้เกิดสุญญากาศ มหาวิทยาลัยไม่สามารถตัดสินเรื่องต่าง ๆ ได้ และถ้าต้องสรรหาสภาฯใหม่ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบให้การบริหารงานในมหาวิทยาลัยเกิดความสะดุดลงชั่วคราว”ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศของ ป.ป.ช.ดังกล่าวมีการพูดคุยกันอย่างมากในกลุ่มภาคเอกชนที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่ตั้งใจเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการศึกษาก็ต้องมาวุ่นวายยื่นเอกสารต่างๆ ล่าสุดทราบว่าหลายคนที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ตัดสินใจจะยื่นลาออก เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น