xs
xsm
sm
md
lg

“เรือหัวโทง” ภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่งานศิลป์ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือหัวโทง เป็นเรือประมงแบบท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย นิยมใช้ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน มีลักษณะเป็นเรือขนาดเล็กหัวเรือสูงงอนขึ้นไปบรรจบกับส่วนหัวที่ยื่นสูงขึ้นมา และตรงท้ายเรือมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ความยาวตั้งแต่ 7 เมตรขึ้นไป นิยมติดเครื่องท้ายเรือเพื่อสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

จังหวัดกระบี่ มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่เต็มไปด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังสีสันสวย ท่ามกลางหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 100 เกาะ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้พบเห็นเรือหัวโทงจนกลายเป็นภาพความประทับใจ เช่นเดียวกับศิลปินร่วมสมัยจากทั้งไทยและนานาประเทศ ในงาน Thailand Biennale, Krabi 2018 ที่เกิดความประทับใจในเรือหัวโทง ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สอดแทรกอยู่ในประเพณีและวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน การคมนาคมทางน้ำของชาวกระบี่

จาง เกิ่ง หวา (Chang Geng-Hwa) หนึ่งในศิลปินไต้หวัน เล่าว่า ขณะที่เดินทางมาทำงาน Thailand Biennale, Krabi 2018 ที่จังหวัดกระบี่ ได้ศึกษาพบว่า เรือหัวโทงเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกพันอยู่กับวีถีชีวิตและการท่องเที่ยว ได้ถ่ายภาพเรือด้วยกล้องพาโนรามา มีความแปลกตาและนำไปสู่แนวคิดในการสร้างผลงานที่ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงให้เกิดขึ้น

จากนั้น จาง เกิ่ง หวา จึงได้เริ่มออกแบบ และเดินทางมาหารือสถานที่ต่อเรือตามแบบ ซึ่งแตกต่างจากเรือหัวโทงทั่วไป สามารถแล่นในน้ำได้แต่รูปร่างจะไม่เหมือนเรือทั่วไปและมีความยาวถึง 24 เมตร สื่อถึงกับโลกคู่ขนานระหว่างความจริงและความฝัน ภายใต้แนวคิด สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ (Edge of the Wonderland) ซึ่งผลงานได้นำไปติดตั้งยังบริเวณสวนสาธารณะธารา และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่ศิลปินนานาชาติเท่านั้น เรือหัวโทง ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานประติมากรรมภายใต้สัญลักษณ์เรือหัวโทงของศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ยุรี เกนสาคู ด้วย เธอบอกว่าโจทย์ของงาน EDGE Of The WONDERLAND ความเป็นสุดขอบมันคาบเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความเป็น ความตาย ทำให้นึกถึงเรือหัวโทง สัญลักษณ์ในวิถีชีวิตของชาวกระบี่ เรือคือดินแดนที่ลอยอยู่ในน้ำ ก้าวไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติของจังหวัดกระบี่

ยุรีจึงตั้งชื่อผลงงานชิ้นนี้ว่า “NAKABI” เป็นการเล่นคำ หมายถึงพญานาคแห่งเมืองกระบี่ เป็นงานที่ตั้งใจให้เป็น Sit Specific กับท้องทะเลและธรรมชาติโดยรอบ ถ่ายทอดเรื่องราวตำนานของจังหวัดกระบี่ ตัวละครเอกจะมี นางเบญจา ยักษ์และพญานาค นอกจากสีสันสดใสภายในเรือ หัวเรือซึ่งเป็นพญานาคจะใช้เป็นสีรุ้ง เพื่อสื่อถึง Wonderland ส่วนด้านนอกของเรือจะทาสีเงินและคอนลาจด้วยแผ่นสแตนเลส สะท้อนความงามอันมหัศจรรย์ในธรรมชาติโดยรอบ และเมื่อคนก้าวลงไปในเรือก็จะได้สัมผัสกับเรื่องราวของตัวละครที่โลดแล่นอยู่ภายในด้วยสีสันตระการตา ท่ามกลางแผ่นฟ้า และผืนน้ำ

นอกจากนี้รูปปั้นพญานาคที่หัวเรือยังเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงจังหวัดกระบี่ที่ร่ำรวยด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ชมงานศิลปกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตอันงดงามนี้ได้ในงานงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale, Krabi 2018 ” ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 ก.พ.2562 จ.กระบี่ งานดีๆและมีคุณค่า นำมิติศิลปะ วัฒนธรรม มาส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ วงการศิลปะของไทย


ยุรี เกนสาคู

จาง เกิ่ง หวา


กำลังโหลดความคิดเห็น